กระทรวงสาธารณสุข เผยออกตรวจการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  ตั้งแต่วันที่ 10 -13 เมษายน 2559  พบผู้ทำผิดถูกดำเนินคดี 162ราย มากสุดคือการโฆษณา รองลงมาดื่มในที่ห้ามดื่มและจำหน่ายในเวลาห้ามจำหน่าย กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้มงวดดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดช่วง 7 วันอันตราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บจากจราจรและความสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาเหตุจากการเมาสุราสูงเป็นอันดับ 1 โดยผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเป็นกลุ่มวัยแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว กระทรวงสาธารณสุขได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกตรวจการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด และตำรวจ

 ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 10 -13 เมษายน 2559 ดำเนินการตรวจในพื้นที่เกาะช้าง พื้นที่อ.เมือง จ.ตราด และจ.นครนายก ภาคเหนือ ดำเนินการที่จ.แพร่  พะเยา และเชียงใหม่ ภาคอีสาน ดำเนินการที่จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ภาคใต้ ที่อ.ไชยา และอ.เมืองจ.สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 527 ราย พบการกระทำผิดและดำเนินคดี 162 ราย โดยฐานความผิดที่พบ 3 อันดับแรกคือ โฆษณาสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันไม่เกิน 5 หมื่นบาทจนกว่าจะหยุดโฆษณา จำนวน 47 ราย รองลงมาบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้าม โทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  จำนวน 40 ราย ที่สวนสาธารณะทั้ง 7 รายและบนทาง 33 ราย  และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาต้องห้าม โทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  จำนวน 39 ราย 

นอกจากนี้ยังพบ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะหรือวิธีการต้องห้าม เช่น ลดราคา แลก แจก แถม เป็นต้น โทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  จำนวน 25 ราย   ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้าม โทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  จำนวน 7 ราย  โดยพบจำหน่ายบนเรือโดยสารสาธารณะ 1 ราย และสวนสาธารณะ 6 ราย ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ โทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำนวน 3 ราย  และยังพบความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493ของสรรพสามิต ฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มี/ไม่แสดงใบอนุญาตขาย โทษ ปรับไม่เกิน 500 บาท สำหรับการขายสุราในประเทศ หรือ 2,000 บาท สำหรับการขายสุรานำเข้า จำนวน 8 ราย  ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้มงวดดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดช่วง 7 วันอันตราย เพื่อลดปัจจัยที่นำมาสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจราจรให้ได้มากที่สุด

                   ************************************ 14 เมษายน 2559



   
   


View 15    14/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ