“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 129 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย สงกรานต์ 5 วัน มีผู้บาดเจ็บจราจรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 18,000 คนร้อยละ 32 ดื่มสุรา กำชับโรงพยาบาลบนเส้นทางหลวงและปริมณฑลเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินขากลับจากฉลองสงกรานต์ แนะนำผู้ขับขี่ใช้กุญแจเตือนใจ 5 ดอกในการเดินทาง ส่วนผลการตรวจการขายเหล้า ดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว 217 ราย
วันนี้ (15 เมษายน 2559) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข วิเคราะห์สาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ 11-15 เมษายน จากโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ มีผู้บาดเจ็บจากจราจรเข้ารับรักษา 18,360 คน จากการซักประวัติพบมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มสุรา 5,800 คนหรือร้อยละ 32 ไม่สวมหมวกนิรภัย 2,322 คน และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 456 คน ทำให้บาดเจ็บรุนแรงต้องส่งต่อโรงพยาบาลที่ศักยภาพสูงกว่า 1,654 คน และมีผู้เสียชีวิต 273 ราย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยกลับจากการฉลองเทศกาลสงกรานต์ ได้กำชับให้โรงพยาบาลตลอดเส้นทางหลวงและปริมณฑล เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯเต็มที่ ทั้งด้านกำลังคน อุปกรณ์ ทีมกู้ชีพฉุกเฉิน แนะนำผู้ขับขี่ใช้กุญแจเตือนใจ 5 ดอกในการเดินทาง คือ “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ขับเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่”และกุญแจสำรองอีก 1 ดอกไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน คือ สายด่วน 1669
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตั้งแต่ 11-14 เมษายน หน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินออกบริการ 5,445 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 56 ครั้ง ประชาชนขอความช่วยเหลือผ่านทางสายด่วน 1669 จำนวน 3,712 ครั้งหรือร้อยละ 68 ที่เหลือผ่านทางหมายเลขอื่นๆ และวิทยุสื่อสาร โดยเป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินสีแดงจำนวน 514 คน
ส่วนผลการรณรงค์ตรวจเตือน และดำเนินคดีกับผู้ทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ตั้งแต่ 10 -14 เมษายน รวมตรวจทั้งสิ้น 661 ราย พบการกระทำผิดกฎหมายและมีการดำเนินคดี 217 ราย มากที่สุดคือโฆษณาสื่อสารการตลาด 60 ราย ขายในเวลาต้องห้าม 55 ราย บริโภคในสถานที่ต้องห้าม เช่น สวนสาธารณะ,บนทาง จำนวน 59 ราย ขายในลักษณะหรือวิธีการต้องห้าม เช่น ลดราคา แลก แจก แถม เป็นต้น จำนวน 29 ราย ขายในสถานที่ต้องห้าม เช่น เรือโดยสารสาธารณะ , สวนสาธารณะ , ร้านขายยา จำนวน 8 ราย
ขายให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ 4 ราย นอกจากนี้ ยังพบความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ของสรรพสามิต ฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มี/ไม่แสดงใบอนุญาตขาย 11 ราย
ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดและตำรวจ ประชาสัมพันธ์ ตรวจเตือนอย่างดำเนินการตามกฎหมายต่อเนื่อง เนื่องจากยังพบการจำหน่าย และดื่มสุราในพื้นที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม โดยเพิ่มการดำเนินการในพื้นที่ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ช้ากว่าจังหวัดอื่น เช่น งานวันไหลในจังหวัดโซนภาคตะวันออก งานสงกรานต์ที่พระประแดง เป็นต้น
************************ 15 เมษายน 2559