กระทรวงสาธารณสุขเผยผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า กว่าร้อยละ 80 เกิดจากถูกสุนัขเลี้ยงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ล่าสุดปี 2559 นี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย เนื่องจากไม่ไปพบแพทย์หลังถูกสัตว์กัดหรือข่วน โรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ต้องเฝ้าระวังและแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเมื่อพบผู้ป่วย ยืนยันไม่เคยปิดบังตัวเลขผู้ป่วย แนะหากพบสุนัขหรือแมว มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เซื่องซึม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที 

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อสัตว์สู่คนร้ายแรง ผู้ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วเสียชีวิตทุกราย โดยผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 80 ถูกสุนัขเลี้ยงเองและสุนัขเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคกัดหรือข่วน ทั้งนี้ตามพ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดให้โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งสำนักระบาดวิทยาได้มีการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรค การป้องกันและสถิติผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยปิดบังตัวเลข ล่าสุดปี 2559 มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 3 ราย จากการสอบสวนพบว่า ไม่ไปพบแพทย์หลังถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน ส่วนปี2558 มีรายงานผู้เสียชีวิต 5 ราย
 
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศภายในปี 2563 โดยมีมาตรการเฝ้าระวังค้นหาโรคอย่างทั่วถึง ควบคุมการนำสัตว์เข้ามาในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข และการฉีดวัคซีนในคนเมื่อถูกกัด ข่วน เป็นต้น หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยป่วย มีอาการ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เซื่องซึม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที 
 
 
ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้ากว่าร้อยละ 95 คือสุนัข รองลงมาคือ แมว สามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการ ทั้งนี้ โอกาสที่คนจะติดเชื้อหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคกัดหรือข่วน ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกาย ตำแหน่งที่ถูกกัด เช่น ศีรษะ อายุ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ จะมีความต้านทานต่อโรคต่ำกว่าหนุ่มสาว และสายพันธุ์ของเชื้อ ระยะฟักตัวของโรค มีตั้งแต่สัปดาห์หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย คันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัดและลามไปส่วนอื่น กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรืออาจชัก เร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
 
การป้องกัน มีดังนี้ 1.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี 2.เลี้ยงสุนัขด้วยความรับผิดชอบ ไม่ไปปล่อยทิ้งในสถานที่สาธารณะ รวมทั้งช่วยกันลดจำนวนสุนัข/แมว  จรจัดในชุมชน 3.ปฏิบัติตามคำแนะนำ คาถา 5 ย เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด ได้แก่ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ และ4.เมื่อถูกกัด ให้ล้างแผลให้สะอาด ขังสุนัข/แมวที่กัดดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวทางมาตรฐาน ฟรี สำหรับการตรวจยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ส่งตัวอย่างตรวจที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์         
 
 
 
****************************** 20 เมษายน 2559
 


   
   


View 18    20/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ