รัฐบาลไทยรณรงค์ “ประชารัฐร่วมใจกำจัดโรคไข้มาลาเรีย” ดึงทุกภาคส่วนร่วมแก้ไข พร้อมยกระดับจากควบคุมโรคเป็นกำจัดโรค ใช้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรีย 2.พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม 3.สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย และ 4.ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเอง ให้ไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี 2567

 

วันนี้ (25 เมษายน 2559) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมรณรงค์ “ประชารัฐร่วมใจกำจัดโรคไข้มาลาเรีย” ซึ่ง WHO ให้คำขวัญไว้ว่า End Malaria for Good กำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปเพื่อความปลอดภัยของประชากรโลกเนื่องในวันมาลาเรียโลก พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย ปี พ.ศ.2567

 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า แนวโน้มโรคไข้มาลาเรียตั้งแต่ปี 2543 ลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 75 ใน 55 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรีย ผู้ป่วยลดลงจาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือเพียง 24,850 รายในปี 2558 ลดลงประมาณร้อยละ 85  ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวชายแดน ซึ่งมีปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษา องค์การสหประชาชาติ (United Nation) และประเทศไทย ตั้งเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals -SDGs) เพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ และติดตามความก้าวหน้า ประกอบกับโครงการมาลาเรียโลก (Global Malaria Program) มีเป้าหมายกำจัดโรคไข้มาลาเรียและผลักดันประเทศที่มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันคน ซึ่งไทยมีอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันคน ให้ยกระดับจากควบคุมโรคเป็นกำจัดโรค

 

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569 ให้ไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี พ.ศ.2567 มี 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย 2.พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาตรการและรูปแบบที่เหมาะสมในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย 3.สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ระดับประเทศ และนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย และ 4.ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย แผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ใช้งบประมาณ 2,283 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบประมาณการควบคุมโรคไข้มาลาเรียที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก ตั้งแต่ปีพ.ศ.  2547 จะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2560 รัฐบาลจึงต้องบูรณาการงาน ทรัพยากรร่วมกับทุกภาคส่วน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หน่วยบริการเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม กำจัดโรคไข้มาลาเรียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มุ่งให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ปลอดภัย ปลอดโรคมาลาเรีย

 ************************* 25 เมษายน 2559



   
   


View 16    25/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ