กระทรวงสาธารณสุข เผยในรอบ 15 ปี มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากพิษแมงกะพรุนเกือบ 1,000คน เสียชีวิต 7 คน จับมือ ก.ท่องเที่ยวฯ ก.มหาดไทย เตือนภัยจากแมงกะพรุนพิษ ในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล แนะประชาชนราดน้ำส้มสายชู เมื่อโดนแมงกะพรุนพิษ สวมเสื้อผ้ามิดชิด เล่นน้ำทะเลปลอดภัย

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย ประชุมหารือ การป้องกันภัยจากแมงกะพรุนกล่อง” โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอการป้องกันและเตือนภัย ด้วยป้ายเตือนภัย พร้อมขวดน้ำส้มสายชูที่ชายหาดเพื่อใช้ยับยั้งพิษของแมงกะพรุน และการขึงอวนตาข่ายกั้นบริเวณให้เล่นน้ำป้องกันแมงกะพรุนเข้าในบริเวณที่กั้นไว้ ตามแนวทางที่ได้ศึกษาร่วมกับประเทศออสเตรเลียที่พบผู้ที่เสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษมากประเทศหนึ่ง โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ พร้อมเสนอให้มีการสำรวจแหล่งที่พบแมงกะพรุนพิษ จัดอบรมการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีหลักสูตรอยู่แล้ว และเตรียมเชิญสมาคมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรมที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวตามชายหาดเข้าร่วมหารือ ชี้แจงแนวทางการดำเนินการดำเนินการตามข้อเสนอของที่ประชุมต่อไป

 

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาการแพร่กระจายและเฝ้าระวังการระบาดของแมงกะพรุนพิษ จัดอบรมให้ความรู้แพทย์ พยาบาล พร้อมจัดระบบเฝ้าระวังติดตามพื้นที่เสี่ยง ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ติดตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู กล่องปฐมพยาบาลบริเวณริมหาด และติดตั้งตาข่ายกันแมงกะพรุน ในพื้นที่ที่พบแมงกะพรุนพิษ ขณะนี้มีจุดปฐมพยาบาลรวม 67 จุดทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 - 2558 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 900 ราย พบอาการหนักจนถึงหมดสติ 17 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 7 ราย โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่อง ที่มีถุงพิษอยู่ที่สายหนวด เพียงหนึ่งตัวอาจมีถุงพิษ ถึงล้านถุง โดยบางสายพันธุ์ทำให้เสียชีวิตภายใน 2-10 นาที ทำให้แมงกะพรุนกล่องถูกจัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ถูกวิธี โดยการราดด้วยน้ำส้มสายชูจะระงับการยิงพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ได้ยิงในระยะแรก จะลดความรุนแรงของการได้รับพิษ 

 

สำหรับพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการโดนแมงกะพรุนพิษคือ บริเวณน้ำตื้น ใกล้ชายหาด โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวโค้งเว้า ในช่วงที่คลื่นลมสงบ ช่วงเวลาที่พบผู้ป่วยเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงหลายรายจะเป็นช่วงขณะที่เล่นน้ำหลังฝนหยุดตกใหม่ๆ หรือเล่นน้ำตอนกลางคืน แต่ช่วงกลางวันก็พบได้ ในการป้องกันอันตรายจากแมงกะพรุนพิษ ประชาชนควรสวมเสื้อผ้ามิดชิดเวลาลงเล่นน้ำทะเล เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัว หากโดนแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชูก่อนแล้วให้การรักษาเพื่อลดความเจ็บปวดด้วย เช่นผักบุ้งทะเล ว่านหางจระเข้ และราดด้วยน้ำเย็นหรือประคบเย็น ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนหรือราดด้วยน้ำจืดก่อนที่จะราดน้ำส้มสายชู หากมีอาการปวดมาก หรือแน่นหน้าอกให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 ประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

  ************************************** 25 เมษายน 2559



   
   


View 18    25/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ