กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้นิยมรอยสักสวยงามบนร่างกาย ระวังอันตรายจากการสัก อาจแพ้สีที่ใช้สัก เกิดการอักเสบติดเชื้อรุนแรง เช่นไวรัสตับอักเสบ เชื้อรา เอชไอวี ขอให้เลือกสถานบริการที่สะอาด ไม่ใช้เข็ม และสีสักซ้ำ แนะใช้สติ๊กเกอร์แทททูแทน หรือสักบริเวณที่เหมาะสม เล็กที่สุด และใช้สีเดียว เพื่อให้แก้ไขง่าย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันการสักผิวหนังเพื่อความสวยงามกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาการแต่งหน้า เช่น การสักคิ้ว สักปาก สักแก้ม เป็นต้น การสักในบริเวณที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพในการสมัครทำงานในองค์กรต่าง ๆ ในอนาคตได้ อีกทั้งขณะนี้เครื่องมือและสีที่ใช้ในการสัก ยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานใด และไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ของสถานพยาบาลหรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่จะต้องขึ้นทะเบียน และควบคุมมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้ผู้ที่ต้องการสักตระหนัก และเลือกใช้สถานบริการที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัย เพราะหากใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาด ไม่เปลี่ยนเข็มสัก หรือใช้สีสักขวดเดียวกัน จะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้

ด้านดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยว่า รายงานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสัก พบได้ร้อยละ 75 ของผู้สักทั้งหมด โดยจะมีอาการเจ็บแสบบริเวณแผล มีอาการคัน บวม เป็นหนอง มึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ สาเหตุจากการแพ้สีสักและเครื่องมือที่ใช้ในการสักมีการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ บางรายที่สักมาแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นรอยแผลเป็นที่เห็นชัดเจนบนใบหน้าและร่างกาย ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ที่สำคัญคือหากใช้เข็มซ้ำกับคนอื่น หรือนำสีสักที่เหลือมาสักต่อ ก็อาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อราหรือเอชไอวีได้

ดร.นพ.เวสารัชกล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบบ่อยคือการสักเฮนน่า ซึ่งเป็นสีธรรมชาติที่ทำจากรากไม้ ขณะนี้มีผู้สักบางรายแอบนำสีย้อมผมใช้แทนเฮนน่า เพื่อให้มีสีเข้มและติดทนนานขึ้น นอกจากนั้นสีสักมักใช้สีที่ผลิตมาเพื่ออุตสาหกรรม เช่น สีเคลือบรถยนต์ สีหมึกพิมพ์ สีทาบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เนื่องจากจะมีโลหะหนักและสารไฮโดรคาร์บอนก่อมะเร็งผสมอยู่ รวมทั้งหากต้องการลบรอยสักต้องใช้ลำแสงเลเซอร์ ไปทำลายอนุภาคของเม็ดสีให้กระจายตัวออก กลายเป็นสารก่อมะเร็งต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดมะเร็งตามมา นอกจากนี้ หากผู้ที่สักป่วยและต้องเข้ารับตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งเป็นเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง จะเกิดการดูดกันระหว่างโลหะหนักที่ผสมอยู่ในสีที่สักกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องตรวจ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแสบร้อนบริเวณรอยสักได้  

ขอแนะนำผู้ที่ต้องการสักลายสวยงามบนผิวหนัง ให้ใช้วิธีติดสติ้กเกอร์แทททูที่สามารถเปลี่ยนลายได้บ่อยๆ แทนการสัก หากต้องการสักจริง ๆ ควรสักบริเวณที่เหมาะสมและเล็กที่สุด ควรใช้สีเดียวในการสัก โดยเฉพาะสีดำ จะแก้ไขรอยสักได้ง่ายกว่าสีอื่น ที่สำคัญควรคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยของสถานที่ เครื่องมือ สีที่ใช้สัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา ดร.นพ.เวสารัชกล่าว

 ********************** 1 พฤษภาคม 2559



   
   


View 20    01/05/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ