ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หารือ ร่วมกับกทม.โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกลาโหม ตำรวจ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม.รองรับประชากรกว่า 15 ล้านคน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้รวดเร็วภายใน 10 นาที แบ่งการทำงานเป็น 9 โซน นำเทคโนโลยีมาช่วย ขอความร่วมมือประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรสายด่วน 1669 ทั่วประเทศ ส่วน กทม.โทรได้ 2 เบอร์คือ 1669 และ 1646
วันนี้(2 พฤษภาคม 2559) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหารือ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกลาโหม ตำรวจ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการให้รวดเร็ว ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางประชารัฐของรัฐบาล โดยในวันนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันใน 4 ประเด็น ดังนี้
1.มีนโยบายการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ชัดเจน ทำงานกันเป็นเครือข่าย ตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าถึงบริการภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ ประชาชนแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 หรือ 1646 โดยมีศูนย์เอราวัณ กทม.เป็นศูนย์สั่งการ 2.การพัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการทำงาน เช่น เมื่อรับแจ้งเหตุจะทราบตำแหน่งที่อยู่ (location) จากโทรศัพท์ที่โทรเข้ามา พัฒนาชุดข้อมูลคำถามเมื่อรับแจ้งเหตุสำหรับบุคลากร รวมทั้งมีการประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อการปรับปรุงการทำงาน
3.ตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลโดยเฉพาะ มีแพทย์หญิงประนอม คำเที่ยงรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนโรงพยาบาลทุกสังกัดใน กทม. โรงเรียนแพทย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และภาคประชาชน เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินงานทุกๆด้าน ทั้งระบบบริการ แก้ไขปัญหา เช่น การจราจร การส่งต่อ การสำรองเตียง เป็นต้น
4.การพัฒนาระบบการแบ่งพื้นที่การทำงาน หากดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง จะช่วยให้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” เป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งขณะนี้ กทม.แบ่งพื้นที่เป็น 9 โซน มี 9 โรงพยาบาลเป็นแม่ข่าย ประกอบด้วย โรงพยาบาลตำรวจ เลิดสิน ราชวิถี นพรัตน์ฯ เจริญกรุงฯ ภูมิพลฯ กลาง วชิระฯและตากสินฯ มีโรงพยาบาลลูกข่าย 47 แห่ง เป็นภาครัฐ 17 แห่งและเอกชน 30 แห่ง
“ทั้งนี้ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าประชาชนควรจะเข้าถึงบริการปีละ 6 ล้านครั้ง แต่ขณะนี้เข้าถึงบริการเพียง 1.4 ล้านครั้ง สาเหตุส่วนหนึ่งคือไม่ทราบว่ามีบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางสายด่วน 1669 และไม่ทราบว่าอาการยังไงควรจะเรียกใช้บริการ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรสายด่วน 1669 เบอร์เดียวทั่วประเทศ ส่วน กทม.ใช้ได้ทั้ง 2 เบอร์ คือ 1669 และ 1646 เพื่อให้เข้าถึงบริการที่รวดเร็ว มีมาตรฐาน”นายแพทย์โสภณ กล่าว
********************************** 2 พฤษภาคม 2559