ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยรพ.ในสังกัดไม่ใช้พัดลมไอน้ำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆขอความร่วมมือญาติไม่นำมาใช้ในหอผู้ป่วยกำชับรพ.ทุกแห่งปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัยชี้ประชาชนไม่ต้องกังวลกลุ่มเสี่ยงคือผู้มีภูมิต้านทานต่ำผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังพร้อมแนะนำประชาชนทำความสะอาดแอร์ล้างพัดลมไอน้ำเปลี่ยนน้ำบ่อยๆชี้เติมน้ำประปาที่มีคลอรีนตามมารฐานช่วยฆ่าเชื้อป้องกันโรคลีเจียนแนร์ได้

            วันนี้ (15 พฤษภาคม 2559)นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีการใช้พัดลมไอน้ำในโรงพยาบาลเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคลีเจียนแนร์ว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ใช้พัดลมไอน้ำทั้งที่ตึกผู้ป่วยนอก(โอพีดี)และหอผู้ป่วยตามคำแนะนำของสถาบันบำราศนราดูร เนื่องจากหากไม่ได้บำรุงรักษาทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำของพัดลมไอน้ำอย่างสม่ำเสมออาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อลีเจียนแนร์ และแพร่กระจายโรคนี้รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆจากละอองไอน้ำได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลมีอาการเจ็บป่วยร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานร่างกายต่ำอาจติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปนอกจากนี้ยังพบเชื้อนี้ได้ในเครื่องปรับอากาศบ่อพักน้ำหอผึ่งเย็นจึงได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งปฎิบัติตามประกาศกรมอนามัยเรื่องข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลีจิโอเนลลาโดยตรวจสอบระดับคลอรีนตกค้างของน้ำในบ่อพักทุกวันต้องไม่น้อยกว่า 0.2 ppm. น้ำในระบบน้ำร้อนรวมต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และน้ำที่ส่งออกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ส่วนระบบปรับอากาศให้ใช้คลอรีนเข้มข้น 10 ppm.ในท่อที่ไปหอผึ่งเย็น 3-6 ชม.ให้ทั่วถึงทั้งระบบและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำและแช่ฝักบัวด้วยสารละลายคลอรีนเข้มข้น 10 ppm. หรือแช่น้ำร้อน65องศาเซลเซียสนาน 5 นาที

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า โรคนี้รักษาได้ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน ไม่รุนแรงเหมือนโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ในประเทศไทยมีรายงานพบโรคนี้ประปรายประชาชนไม่ควรกังวลมากเกินไป อีกทั้งคนทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วยใดๆ กลุ่มเสี่ยงป่วยด้วยโรคนี้คือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง โดยอาการเกิดขึ้น 2 ลักษณะ คือ อาการเบาจนถึงหนัก โดยอาการเบาจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน  ในทางการแพทย์เรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) แต่หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต จะเรียกว่าโรคลีเจียนแนร์ ประการสำคัญที่สุดคือ หากมีอาการเจ็บป่วยคล้ายกับอาการที่กล่าวมาหรือหลังกลับจากท่องเที่ยว ขอให้นึกถึงโรคลีเจียนแนร์และให้ไปพบแพทย์และเล่าประวัติให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็หายขาด

                อย่างไรก็ดีในช่วงนี้ประเทศไทยสภาพอากาศร้อนจัด ญาติมีความเป็นห่วงผู้ป่วยจึงมักขอนำพัดลมไอน้ำมาใช้เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวขึ้นจึงขอความร่วมมือให้ใช้พัดลมระบบแรงลมทั่วๆไปเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคลีเจียนแนร์และขอแนะนำประชาชนให้ดูแลล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่บ้านให้ทำความสะอาดท่อหล่อเย็นหรือถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ อย่าให้มีน้ำ ขัง เปียกชื้น ควรทำให้แห้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคส่วนพัดลมไอน้ำไอเย็นให้ล้างภาชนะบรรจุน้ำอย่าปล่อยให้มีตะไคร่น้ำและเปลี่ยนน้ำบ่อยๆเนื่องจากเชื้อจะถูกทำลายได้ด้วยคลอรีนหากล้างและเติมน้ำประปาที่มีคลอรีนตามเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยทำลายเชื้อนี้ได้

 ******************************** 15พฤษภาคม 2559



   
   


View 16    15/05/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ