ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนระวังลมแดดในเด็กเล็ก แนะครู ผู้ปกครองสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด พบเด็กคลื่นไส้ อาเจียน ตัวร้อนขึ้น ปวดศีรษะ หน้ามืด หายใจเร็ว ให้รีบนำเข้าที่ร่ม ระบายความร้อนด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น จิบน้ำบ่อยๆ และส่งโรงพยาบาลทันที

         
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ประเทศไทย หลายพื้นที่มีฝนตก ขณะที่สภาพอากาศในตอนกลางวันยังร้อนมาก ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย ที่อันตรายถึงชีวิตได้แก่ โรคลมแดด แม้จะพบไม่ได้บ่อยในประเทศไทย แต่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เกิดได้กับทุกคนที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เด็กเล็กจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย ทำให้การปรับตัวของร่างกายต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ หากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตได้
         
ดังนั้นจึงขอให้ครู ผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันโรคลมแดด หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอยู่กลางแดดหรือเล่นกลางแดดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อนจัดหรืออุณหภูมิสูงเกิน 37 องศาเซลเซียส ควรให้ออกไปเล่นช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ไม่ทึบ และสังเกตอาการผิดปกติ หากพบว่าเด็กตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการทางสมอง เช่น เห็นภาพหลอน สับสน หงุดหงิด ชักหรือหมดสติ ให้รีบนำเข้าที่ร่มทันที และปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น รีบระบายความร้อนออกจากร่างกายให้ตัวเย็นลงโดยเร็วเช่น การใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาหรือน้ำเย็นเช็ดตัวบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ ประคบน้ำแข็ง หากยังมีสติให้จิบน้ำบ่อยๆ และส่งโรงพยาบาลโดยเร็วหรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 ฟรี ตลอด 24ชั่วโมง
 

********************* 18 พฤษภาคม 2559


   
   


View 18    18/05/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ