ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำอย่าลืมมาตรการ เก็บ กำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ป้องกัน 3 โรค ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทำต่อเนื่อง ทั้งที่โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก บ้าน ที่ทำงาน โรงพยาบาล

        นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน มีน้ำขังในภาชนะต่างๆ ลูกน้ำกลายเป็นยุงเร็วขึ้น และเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม รวมทั้งเป็นวันวิสาขบูชา วันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนนิยมไปทำบุญหรือเดินทางท่องเที่ยว จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ป้องกันบุตรหลานและคนในครอบครัวเจ็บป่วยและเสียชีวิต โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ข้อมูลสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรครายงานตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 - 16 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 17,170 คน เสียชีวิต 14 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี รองลงมาคืออายุ 5-9 ปี อายุ 15-24 ปี อายุ 0-4 ปี และ 25-34 ปี ตามลําดับ อาชีพที่มากที่สุดคือนักเรียน ร้อยละ 42.76 รองลงมาได้แก่ รับจ้างร้อยละ 18.85

      นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า มาตรการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยใช้มาตรการ เก็บ คือ ได้แก่ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

       โรคไข้เลือดออก เป็นได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยพบมากในช่วงอายุ 5-10 ปี อาการส่วนใหญ่มักจะมีไข้สูงลอย ไข้ไม่ลด นอนซม เด็กโตจะปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ซึ่งพบได้ในผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ในระยะไข้นี้บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆไป และอาจปวดที่ชายโครงขวา หากมีไข้สูง ให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้ อย่าซื้อยาแก้ปวดที่มีระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะเสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหารอันตรายถึงเสียชีวิต แต่หากกินยาแล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องให้พ้นระยะอันตราย และในช่วงที่ไข้เริ่มลดขอให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะช็อกได้ โดยผู้ป่วยจะซึมลง อ่อนเพลีย อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที  

       ทั้งนี้ ประชาชนที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถโหลดแอปพลิเคชั่นช่วยในการจัดการกับลูกน้ำยุงลายและโรคไข้เลือดออกได้ โดยเข้าไปที่ App Store หรือ Play Store  ค้นหาคำว่า “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” กดรับฟรี  หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

                                             ******************************* 20 พฤษภาคม 2559



   
   


View 18    20/05/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ