“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขแจงไม่มีโพแทสเซียมโบรเมต หรือโพแทสเซียมไอโอเดทในแป้งขนมปังที่ผลิตในไทย เพราะได้กำหนดให้เป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร และห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ไปนานแล้ว แต่หากพบการใช้หรืออาหารที่มีการใช้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแนะประชาชนเลือกซื้ออาหารที่ได้มาตรฐานมีฉลากกำกับ
วันนี้(25 พฤษภาคม 2559)นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประเทศอินเดียตรวจพบโพแทสเซียมโบรเมต หรือโพแทสเซียมไอโอเดท หรือทั้งสองชนิด ในตัวอย่างขนมปังมากถึงร้อยละ 84 ว่า จากการตรวจสอบของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย ไม่พบว่ามีการใช้โพแทสเซียมโบรเมต หรือโพแทสเซียมไอโอเดทในประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โพแทสเซียมโบรเมต และ โพแทสเซียมไอโอเดท เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายและวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151(พ.ศ.2536) และ ฉบับที่ 292 พ.ศ.2548 หากพบการใช้หรืออาหารที่มีการใช้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า โพแทสเซียมโบรเมต เป็นสารก่อ ให้เกิดมะเร็ง หากรับประทานปริมาณมากในครั้งเดียวอาจทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง หมดสติ ผิวหนังคล้ำ และหากได้รับโพแทสเซียมโบรเมต อย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดมะเร็ง และความผิดปกติต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีเลือดออกในไต และกระเพาะปัสสาวะได้
ส่วนโพแทสเซียมไอโอเดต หรือ แคลเซียมไอโอเดต หากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารนี้มากไปอาจทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันขึ้น ได้แก่ อาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวบ่อยๆ ปวดท้อง กระหายน้ำ ช็อก มีไข้ ถ่ายปัสสาวะไม่ออกเพ้อคลั่ง มึนงง และเสียชีวิตเนื่องจากโลหิตเป็นพิษ การรับประทานเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดภาวะไอโอดีนเกิน โดยมีอาการเบื่ออาหาร ตาแดง ปากอักเสบ ผื่นแดง ลมพิษ น้ำหนักลด นอนไม่หลับ มีอาการทางประสาท
ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศให้โพแทสเซียมไอโอเดตหรือแคลเซียมไอโอเดตเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ยกเว้นการใช้เพื่อปรับสภาวะโภชนาการเกี่ยวกับการขาดสารไอโอดีน ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวในตอนท้ายว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังการใช้สารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีฉลากกำกับอย่างชัดเจน
************************ 25 พฤษภาคม 2559