กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการการตรวจราชการร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี ในนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล คือ การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม ให้โรงพยาบาลชุมชน เป็นศูนย์รวบรวมขยะติดเชื้อจากสถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็กคลินิก/คลินิกรักษาสัตว์/โรงพยาบาลสัตว์/ผู้ป่วยติดเตียง ส่วนร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รอบที่ 1 ประจำปี 2559 โดยผลการตรวจราชการแบบบูรณาการ ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2559 มี 2 ประเด็นได้แก่ การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(การส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล)ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล โดยในประเด็นการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดการขยะติดเชื้อในภาพรวมตั้งแต่รวบรวม ขนส่ง และนำไปกำจัด ได้บรรจุเป็นวาระของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้มีการจัดการปัญหาร่วมกันในพื้นที่ ส่วนในระดับอำเภอได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลชุมชน เป็นศูนย์รวบรวมขยะติดเชื้อจากสถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็ก เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คลินิก/คลินิกรักษาสัตว์/โรงพยาบาลสัตว์ และจ้างบริษัทเอกชนนำไปกำจัด ซึ่งขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขจ้างเอกชนกำจัดร้อยละ 72.61 มอบให้องค์กรปกครองท้องถิ่นกำจัดร้อยละ 8.27 และเผาด้วยเตาเผาขยะในโรงพยาบาลร้อยละ 14.75 สำหรับขยะติดเชื้อจากผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความรู้กับญาติ/ผู้ดูแล ให้แยกเก็บแล้วนำไปรวบรวมรอกำจัดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ได้กำหนดตัวชี้วัดการทำงาน ดังนี้ 1.ให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ จัดบริการอาชีวะอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมได้ร้อยละ 30 หรือจำนวน 35 แห่งจาก 116 แห่ง ขณะนี้ผ่านเกณฑ์แล้ว 21 แห่ง 2.ให้จังหวัดมีระบบจัดการปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับดี ร้อยละ 50 หรือ 18 จังหวัดจาก 36 จังหวัด ขณะนี้ดำเนินการได้ทั้งหมด 18 จังหวัดแล้ว 3.ประชาชนและผู้ประกอบอาชีพคัดแยกและรีไซเคิลขยะในพื้นที่เสี่ยงสูง 8 จังหวัดได้รับคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพร้อยละ 30 ซึ่งขณะนี้คัดกรองได้แล้ว 2,917 คน โดยจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยคณะผู้ตรวจราชการ มีข้อเสนอแนะในประเด็น การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะ ให้ออกข้อกำหนดท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะ การเข้มงวดตรวจประเมินมาตรฐานบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเกี่ยวกับขยะติดเชื้อ และให้โรงพยาบาลแม่ข่ายจัดทำทะเบียนควบคุมการรวบรวมขยะจากสถานบริการขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งขยะในชุมชนที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดปี 2557 ของเสียอันตรายจากชุมชน มีประมาณ 0.628 ล้านตัน ประกอบด้วย ขยะติดเชื้อ และซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์พ.ศ...อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
***********************29 พฤษภาคม 2559