กระทรวงสาธารณสุข เผยปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นรถกระบะดัดแปลง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข ทบทวนมาตรการควบคุมกำกับ มาตรฐานคนขับ และตัวรถ ให้ถูกต้องได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนที่ต้องโดยสารเดินทางไปโรงเรียนทุกวัน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุมบูรณาการข้อมูลการบาดเจ็บทางถนน ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันรถรับจ้างรับส่งนักเรียนเกิดเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ในปี 2558 ข้อมูลจากการสอบสวนสาเหตุการบาดเจ็บ โดยบุคลากรสาธารณสุข และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พบการเกิดอุบัติเหตุรถรับจ้างรับส่งนักเรียนถึง 17 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 ราย เฉลี่ยเดือนละ 2 ราย และในช่วงปี 2559 ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม พบเกิดอุบัติเหตุแล้ว 7 ครั้ง บาดเจ็บ 90 คน เสียชีวิต 4 ราย
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รวบรวมจะพบแบบแผนของปัญหาที่สำคัญ คือ 1. นำรถส่วนบุคคล เช่น รถกระบะหรือรถตู้มาใช้รับส่งโดยไม่ได้นำขึ้นทะเบียนรถนักเรียน 2.คนขับไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และ3.รถที่ใช้จะเป็นรถเก่าที่นำมาดัดแปลงสภาพ โดยใช้เก้าอี้ยาวมาเรียงเป็นแถวนั่ง 3 แถว เพื่อให้รับเด็กได้จำนวนมาก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยเกือบครึ่งของรถรับจ้างรับส่งนักเรียนที่เกิดเหตุ บรรทุกเด็กมากกว่า 20 คน/คัน ซึ่งเมื่อเกิดเหตุพบว่ามีการบาดเจ็บที่รุนแรง จากการที่เก้าอี้ที่ไม่ได้ยึดเกาะทับขาและร่างกายเด็ก พบบ่อยคือ กระดูกขาหัก และการนั่งเอียงแบบ 3 แถวจะทำให้เมื่อเกิดเหตุ จะมีการเหวี่ยงและบาดเจ็บกระดูกคอของเด็ก
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า รถนักเรียนที่ถูกต้องตามกฎหมายตาม พรบ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ต้องมีมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.คนขับต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ 2.การติดป้ายสัญญาณเตือนว่าเป็นรถนักเรียนหรือรถโรงเรียน พร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง 3.ตรวจสภาพทุก 6 เดือน 4.มีพี่เลี้ยงดูแลเด็ก และ5.มีระบบประกันภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับรถรับจ้างรับส่งนักเรียน สร้างความมั่นใจให้ให้กับผู้ปกครองของนักเรียน กระทรวงสาธารณสุข เตรียมประสานและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และผู้ประกอบการ ร่วมกันทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับหรือจัดระเบียบเข้มกับรถส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งนักเรียน ดังนี้
ระยะเร่งด่วน ได้แก่ การกำหนด มาตรฐานคนขับ มาตรฐานตัวรถ การบรรทุกนักเรียน การวิเคราะห์เส้นทางที่ปลอดภัย การมีผู้ดูแลบนรถ โดยเฉพาะเด็กเล็ก การทำประกันภาคสมัครใจ การสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแนวทางป้องกันควบคู่ไปด้วย ระยะกลางและระยะยาว มีการปรับปรุงประสิทธิภาพรถโดยสารสาธารณะให้มีความสะดวกและปลอดภัย เพื่อผู้ปกครองมั่นใจและส่งบุตรหลานด้วยรถโดยสารสาธารณะ ส่วนรถรับจ้างรับส่งนักเรียน ต้องได้รับการควบคุมกำกับมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งด้านคนขับ ตัวรถและอุปกรณ์ในรถตามมาตรฐาน ร่วมกับระบบกำกับติดตามความเร็ว การวิ่ง/จอดนอกเส้นทาง ด้วยระบบจีพีเอส (GPS) เป็นต้น
************************* 31 พฤษภาคม 2559