กระทรวงสาธารณสุข เร่งปฏิรูประบบการเรียนการสอน ผลิตบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ ทำงานเชิงรุกกับชุมชน เริ่มปีการศึกษา 2550 เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชน ไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคจากพฤติกรรม เพราะที่ผ่านมาบุคลากรส่วนใหญ่จะเน้นด้านการรักษาพยาบาล
วันนี้ (5 กันยายน 2550) ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ ปฏิรูปการศึกษาเพื่อสุขภาวะชุมชน โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์วิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ตัวแทนองค์กรการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา จำนวน 700 คน เข้าร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิรูประบบการศึกษาด้านสุขภาพ พร้อมมอบเกียรติบัตรให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ให้การสนับสนุนการผลิตพยาบาลชุมชน
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน เป็นสาเหตุสำคัญนำมาสู่การป่วยและตายด้วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ใช้เวลารักษายาวนาน องค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคที่ทำให้ชาวโลกเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองแตก โดย 2 โรคนี้ทำให้เสียชีวิตปีละกว่า 13 ล้านคน และคาดว่าโรคดังกล่าวจะรุนแรงขึ้น แนวโน้มการเจ็บป่วยเป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยผลการตรวจสุขภาพคนไทยครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ. 2547 ประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 10 ล้านกว่าคน เป็นโรคเบาหวาน 3 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้ยังไม่รู้ตัวว่าป่วยประมาณ 10 ล้านคน แนวทางแก้ไขจึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนให้ถูกต้อง
โดยระบบการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรด้านสุขภาพสาขาต่างๆในสถาบันที่อยู่ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ผลิตพยาบาลที่ออกไปให้บริการประชาชนทุกจังหวัด ปีละประมาณ 3,000 คน ที่ผ่านมาเน้นทักษะความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคตจะต้องปรับเปลี่ยนโดยเพิ่มทักษะในด้านการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้ป่วย และต้องทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บุคลากรเหล่านี้มีความเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน และสามารถที่จะวางแผนการทำงานเชิงรุกเพื่อการป้องกันได้ดีขึ้น
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมของโครงการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสภาวะสุขภาพชุมชน เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นไป โดยดำเนินการครอบคลุม ทั้งสาขาพยาบาลศาสตร์และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ยุทธศาสตร์การพัฒนาอาจารย์ และยุทธศาสตร์การสร้างระบบการติดตามเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของการปฏิรูปการศึกษา โดยจะมีการเพื่มปรับความคิดและมุมของผู้เรียนให้ค้นหาต้นเหตุการเจ็บป่วย ควบคู่การวินิจฉัยโรคเพื่อจ่ายยารักษา และการฝึกทักษะการทำงานในชุมชน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันตามสภาพปัญหาและวัฒนธรรมท้องถิ่น และจะมีการประเมินผลทุก 6 เดือน
******************************************* 5 กันยายน 2550
View 11
05/09/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ