รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำผู้แทนองค์กรนานาชาติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมในการดำเนินงานเอดส์ เข้าพบนายกรัฐมนตรี  ในโอกาสที่ประเทศไทยที่ได้รับการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อ เอชไอวี และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก เป็นลำดับที่ 2  ของโลกและประเทศแรกของเอเชีย  ประกาศเดินหน้ายุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 จะไม่มีเด็กที่คลอดมาแล้วติดเชื้อ  เอชไอวี  ผู้ติดเชื้อฯรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ

บ่ายวันนี้ (20 มิถุนายน 2559) ณ ทำเนียบรัฐบาล ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะองค์กรนานาชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ( WHO) ผู้แทนโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ  ประจำประเทศไทย (UNAIDS)  ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNICEF ) ผู้แทน  US-CDC ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข  รวมถึงภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานเอดส์ในประเทศไทย เข้าพบพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ในโอกาสที่ประเทศไทยที่ได้รับการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกเป็นลำดับที่ 2 ของโลก และประเทศแรกของเอเชีย  โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดี และให้คำแนะนำในการพัฒนางานโรคเอดส์ของประเทศไทยว่า ภายหลังการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก   ให้ภาคีเครือข่ายภายในประเทศรักษามาตรฐานของการทำงาน และขยายการยุติเอดส์ไปสู่วงกว้างของเป้าหมายประชากรอื่นๆ โดยสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือการวางเป้าหมายและเพิ่มความเข้มแข็งของการเป็นเจ้าของ  การดำเนินงานในระดับจังหวัด ถึงระดับชุมชน  การเสริมพลังให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส ในการเข้าถึงการรักษาและการจัดการรายบุคคล  ในชุมชน  รวมถึงสนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล

          ด้าน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความสำเร็จของประเทศไทยในครั้งนี้ มาจากความร่วมมือของหลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรนานาชาติ ในการพัฒนาและการวิจัยการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก  โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ สถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ผสมผสานเข้ากับงานอนามัยแม่และเด็ก เริ่มตั้งแต่การตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมผสม สำหรับทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อเอชไอวี ตั้งแต่ปี 2536 ให้ยาต้านไวรัสในแม่และทารกตั้งแต่ปี 2543 โดยบรรจุเข้าในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2546 นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดแบบคู่ ตั้งแต่ปี  2553 การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีในทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อฯโดยเร็ว รวมทั้งมีระบบกำกับติดตามการดำเนินงานที่เข้มแข็ง ได้มาตรฐาน ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่  

          นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงห่วงใยปัญหา การติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ ได้พระราชทานเงิน 1 ล้านบาท ในช่วงกลางปี 2539  ให้สภากาชาดไทยเพื่อจัดตั้งกองทุนการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก   เนื่องจากในช่วง ปี 2535 มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ โดยการหญิงตั้งครรภ์คลอด 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 20,000คน  และกองทุนนี้ยังคงดำเนินการถึงปัจจุบันให้ความช่วยเหลือทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ   ด้วยการดำเนินงานแบบบูรณาการจากทุกฝ่าย ทำให้ปี 2558 เด็กติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงจาก 12.2 รายต่อแสนการเกิดมีชีพในปี 2557 เหลือเพียง 11.5 รายต่อแสนการเกิดมีชีพ และการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากร้อยละ 10.3 ในปี 2543-2546 เหลือร้อยละ 1.9 ในปี 2558 อัตราการติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิดลดลงจาก 11.2 รายต่อแสนการเกิดมีชีพในปี 2557 เหลือ 10.9 รายต่อแสนการเกิดมีชีพ ประเทศไทยจึงได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง เพื่อขอรับการประเมินรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก จากองค์การอนามัยโลก ในเดือนธันวาคม2558  ได้รับการรับรองจากจากทีมผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ ในเดือนเมษายน 2559  และได้รับการประกาศและรับมอบเกียรติบัตร ผ่านการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อ เอชไอวีและเชื้อ ซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ในงาน  United  Nation  General  Assembly  High  Level  Meeting  on  Ending  AIDS  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่  6-11  มิถุนายน  2559  ณ  นครนิว ยอร์ก  สหรัฐอเมริกา 

           ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงเดินหน้าที่จะยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ภายในปี 2573 กล่าวคือ ประเทศไทยจะไม่มีเด็กที่คลอดมาแล้วติดเชื้อ  เอชไอวี   ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีไม่เกิน 1,000 รายต่อปี   ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากสถานะการติดเชื้อ 

             **************************  20 มิถุนายน 2559

 

**************************

 

 

 



   
   


View 16    20/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ