สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เสนอกระทรวงสาธารณสุข ให้ตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่โรงพยาบาลลำปาง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบกรมควบคุมโรคหารือผู้เกี่ยวข้องก่อน ปัญหาที่หนักใจที่สุดคือขาดหมอเชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์ ขณะนี้มีเพียง 90 คน วันนี้ (7 กันยายน 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์กำจัด รามกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ประชุมปรึกษาหารือกับสมัชชาคนจนและสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองถ่านหินลิกไนต์และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ที่โรงพยาบาลลำปาง มีกองทุนและงบประมาณสนับสนุน และมีตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการ ให้แก้ไขปัญหาแพทย์ไม่กล้าวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ทำให้ไม่ได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน และเสนอให้มีนโยบายผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ครอบคลุมทุกโรงพยาบาลในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายแก้ไข ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขยินดีให้ความช่วยเหลือด้านปัญหาสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการดูแลส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และการรักษาพยาบาล ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ทั่วประเทศ 3 แห่ง คือ ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ศูนย์ฝึกและสาธิตบริการอาชีวอนามัย อ.สำโรง จ.สมุทรปราการ และศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมคลองเตย ดำเนินการร่วมกับกทม. ส่วนการเสนอให้จัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลลำปางนั้น จะต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ โดยต้องพิจารณาความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับความพร้อมบุคลากรซึ่งขาดแคลนมากอยู่แล้วทุกสาขา โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ขาดแคลนมาก ทั่วประเทศมีประมาณ 90 คน อย่างไรก็ตามจะประสานแพทยสภาเพื่อพิจารณาผลิตแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เพิ่มต่อไป โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ว่าเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานหรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีเครื่องมือที่จะชี้ชัดว่าเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ชัดเจน มั่นใจว่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแม่เมาะขณะนี้ สามารถให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยได้อย่างพอเพียง หากจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยโรคหรือรักษาในระดับที่สูงขึ้น จะมีระบบส่งต่อที่โรงพยาบาลลำปางซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 18 กิโลเมตร ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำนักโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค มีความรับผิดชอบในการหาวิธีป้องกัน และความปลอดภัยในการทำงานไม่ให้เกิดอุบติเหตุ หรือเจ็บป่วย และหากเจ็บป่วยแล้ว แพทย์จะรักษาโรคและวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานที่แพทยสภากำหนด ซึ่งขณะนี้เกณฑ์วินิจฉัยโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพยังมีไม่ครบทุกโรค ส่วนเกณฑ์การวินิจฉัยว่าโรคใดจะได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนนั้น จะยึดตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภาด้วย *************************** 7 กันยายน 2550


   
   


View 12    07/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ