กระทรวงสาธารณสุข ประชุมพัฒนานักเจรจาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างหมอ พยาบาล กับคนป่วยทั่วประเทศ ชี้ปีนี้มีเรื่องขัดแย้งเกิดขึ้นกว่า 200 เรื่อง ร้อยละ 80 จบด้วยความเข้าใจ เรื่องไม่ถึงศาล กู้ความสัมพันธ์ทั้ง 2 ฝ่ายกลับคืนมาได้ เตรียมขยายศูนย์ไกล่เกลี่ยในโรงพยาบาลชุมชนทั่วไทยภายในปี 2551 เช้าวันนี้ (10 สิงหาคม 2550) ที่โรงแรมกระบี่ มาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายนักเจรจาไกล่เกลี่ยทางการแพทย์และสาธารณสุข จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 200 คน การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10–12 กันยายน 2550 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์และประชาชนผู้รับบริการ ให้นักเจรจาไกล่เกลี่ยมีโอกาสนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิ และนักเจรจาไกล่เกลี่ยด้วยกัน เป็นการพัฒนาประสบการณ์ และทักษะในเจรจาไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายแพทย์วัลลภกล่าวว่า ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิต การเจ็บป่วย มีเฉลี่ยปีละประมาณ 150 เรื่อง มูลเหตุเริ่มต้นปัญหา มาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน และยังเกิดจากความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ ที่ต้องการมาตรฐานการบริการและการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น จากการวิเคราะห์เรื่องที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปีมานี้ เกี่ยวข้องกับความไม่พึงพอใจพฤติกรรมการให้บริการของเจ้าหน้าที่มากที่สุด ร้อยละ 80 รองลงมาได้แก่ การข้องใจในมาตรฐานการรักษาพยาบาลของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยจัดตั้งศูนย์เจรจาไกล่เกลี่ยประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่รวม 114 แห่ง มีเจ้าหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ 312 คน นายแพทย์วัลลภกล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานเจรจาไกล่เกลี่ยในรอบ 5 ปี หลังจัดตั้งศูนย์สันติวิธีพบว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ในปี 2550 นี้ มีกรณีขัดแย้งที่เข้าสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยประมาณ 200 เรื่อง ร้อยละ 80 สามารถเจรจาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยความเข้าใจกัน ช่วยให้สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ทั้ง 2 ฝ่ายกลับคืนมา อย่างไรก็ตามการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นงานหนัก คู่พิพาทอาจใช้เวลานานกว่าจะตกลงกันได้ บางรายกว่าจะตกลงกันได้ ไม่ต้องส่งฟ้องศาล ต้องใช้เวลาเจรจาทำความเข้าใจนานที่สุดถึง 11 เดือน ทั้งนี้ หากเรื่องขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล จะต้องใช้เวลาพิจารณาตัดสินที่ยาวนาน บางกรณีนานถึง 10 ปี เพราะฉะนั้นหากการเจรจาไกล่เกลี่ยตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ก็จะสามารถคลี่คลายปัญหาไม่ให้บานปลายได้ โดยในปี 2551 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขยายการตั้งศูนย์เจรจาไกล่เกลี่ย ในโรงพยาบาลชุมชนที่มีประมาณ 600 แห่งทั่วประเทศด้วย นายแพทย์บรรพต ต้นธีรวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทุกจังหวัดมีนักเจรจาไกล่เกลี่ยที่ผ่านการอบรมทักษะการจัดการความขัดแย้งขั้นพื้นฐาน ประจำศูนย์ แห่งละ 5–10 คน ทำให้ปัญหาความขัดแย้งได้รับการแก้ไขรวดเร็วขึ้น ลดการฟ้องร้อง ช่วยฟื้นคืนความสัมพันธ์กลับคืนมา และมีนักเจรจาไกล่เกลี่ยระดับสูง ที่ผ่านการอบรมเพิ่มศักยภาพ คลี่คลายความขัดแย้งในกรณีเรื่องถึงขั้นฟ้องร้องศาลแล้วแห่งละ 2–4 คนด้วย ซึ่งเกือบทุกกรณีสามารถตกลงยอมความกันได้ในที่สุด นายแพทย์บรรพตกล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยลดความขัดแย้ง โดยในสังคมตะวันตกนั้น ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของคนกลาง คือต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา มีประสบการณ์ ความชำนาญในการไกล่เกลี่ย และหาทางออกที่สร้างสรรค์ให้คู่กรณีได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง เกียรติยศหรืออาวุโส แตกต่างจากสังคมไทยที่ยังให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส การเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นคนที่คู่กรณีไว้วางใจ เป็นกลางจริงๆ ไม่มีอคติเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดถูกผิด ซึ่งคุณลักษณะของคนกลางนี้ จะส่งผลให้บรรยากาศการเจรจา มีโอกาสสำเร็จสูงถึงร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 ของความสำเร็จมาจากการใช้ความอดทนและศรัทธาในการเจรจาอย่างต่อเนื่อง แม้จะใช้เวลานานและมากครั้ง โดยหลักคือการรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันไว้ และให้การช่วยเหลือคู่กรณีทุกฝ่ายอย่างยุติธรรมเสมอภาค “มีความเป็นห่วงว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับบริการสาธารณสุขฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นกลไกที่ดี แต่ยังไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้พูดคุยโดยมีคนกลางช่วยเหลือ เกรงว่าผู้รับบริการได้เงินชดเชยไปแล้ว อาจยังติดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีกลับคืนมาได้ยากและบางรายอาจไปฟ้องร้องต่ออีก เรื่องก็จะไม่จบ” นายแพทย์บรรพตกล่าว ********************************* 10 กันยายน 2550


   
   


View 11    10/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ