รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น กำชับบริหารจัดการใน 5 ประเด็นคือการดูแลก่อนถึงโรงพยาบาล การดูแลในโรงพยาบาล การดูแลในช่วงการส่งต่อ การเตรียมความพร้อมกรณีเกิดอุบัติเหตุหมู่ และการเตรียมแผนรองรับภัยพิบัติ  ยึดหลักสำคัญทั่วถึง เท่าเทียมและทันเวลา

          วันนี้ (1 สิงหาคม 2559) พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการบริหารจัดการ ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency care system : ECS) ที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมดูงานระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ที่เป็นต้นแบบของประเทศในการบริหารจัดการเรื่องนี้ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน เป็นระบบการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ ยึดหลักสำคัญคือ ทั่วถึง เท่าเทียม และทันเวลา โดยการบริหารจัดการแบ่งเป็น 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การดูแลภาวะฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล 2.การดูแลภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาล 3.การดูแลภาวะฉุกเฉินในช่วงการส่งต่อระหว่างสถานบริการ 4.การเตรียมความพร้อมกรณีเกิดอุบัติเหตุหมู่ และ 5.การเตรียมแผนรองรับภัยพิบัติของสถานพยาบาล  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดพัฒนาในทั้ง 5 ประเด็น กำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อรองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพ  ภายในปี 2560 โรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยทุกแห่ง ต้องมีห้องฉุกเฉินคุณภาพ มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาลเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาลเวชกิจฉุกเฉินที่ผ่านการอบรมอย่างน้อย 4 เดือนประจำ

          สำหรับจังหวัดขอนแก่น  มีผู้ป่วยบาดเจ็บและป่วยฉุกเฉินใช้บริการที่โรงพยาบาลของรัฐมากกว่า 700,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากจราจรเฉลี่ยปีละ 400 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต  21.62 ต่อประชากรแสนคนทำให้มีความแออัดและส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดูแลรักษา ได้พัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพและลดการตายที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด โดยเฉพาะด้านความรู้ และทักษะของบุคลากร โดยมีกระบวนการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้ง 5 ประเด็น อาทิ การพัฒนาระบบการดูแลที่ห้องฉุกเฉิน (Emergency Room ) จัดระบบการคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินตามระดับความเร่งด่วน  มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและแพทย์เฉพาะทางให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีช่องทางด่วนพิเศษ (Motorway Fast Tract) สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินใน 8 กลุ่มโรค สำคัญได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด  ภาวะเสี่ยงสูงในหญิงตั้งครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด  การบาดเจ็บที่ศีรษะ การบาดเจ็บกระดูกสันหลัง และการบาดเจ็บหลายระบบ  

นอกจากนี้ ยังมีห้องผู้ป่วยวิกฤต (Resuscitation room) เป็นบริเวณที่ให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤตและเจ็บป่วยรุนแรงซึ่งรองรับผู้ป่วยได้สูงสุด  8 - 10 ราย มีทีมแพทย์ พยาบาลและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานพร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรกคลอด ผู้ป่วยเฉพาะโรคที่อยู่ในภาวะวิกฤต เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด, สมองขาดเลือดและผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงหลายระบบ รวมทั้งยังมีทีมกู้ชีวิตที่พร้อมปฏิบัติงานและมีความชำนาญสูง

ที่สำคัญ มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการที่ทันสมัย มีทีมแพทย์ พยาบาล และนักปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ในการสั่งการและออกเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมีหน่วยกู้ชีพเป็นชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง  26  หน่วย  ระดับต้นและเบื้องตัน 211 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 91.50 ของพื้นที่ อยู่ระหว่างจัดตั้ง 19  มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานทุกระดับ  5,458 คน มีรถกู้ชีพ  393 คัน และมีผลงานการออกปฏิบัติการ มากกว่า 100,000 ครั้งต่อปี มากที่สุดของประเทศไทย    

******************************** 1 สิงหาคม 2559



   
   


View 15    01/08/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ