กระทรวงสาธารณสุข จับมือเครือข่ายสุขภาพ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ความเห็นผลกระทบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ต่อสุขภาพ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดในด้านเศรษฐกิจและภาพรวม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเจรจาความตกลง TPP

          วันนี้ (8 สิงหาคม 2559) ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การสาธารณสุขและระบบสุขภาพของไทย” จัดโดยคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้แทนสถานทูตจากประเทศสมาชิก TPP เข้าร่วมการประชุมฯ 170 คน โดยผลจากการประชุมจะจัดทำเป็นข้อเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเจรจาความตกลงต่อไป 
          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยหลักคิดทำให้ทุกส่วนในสังคมไทยเติบโตเข้มแข็งไปด้วยกัน (Strong Together) และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leaving No One Behind) พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาการค้าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว ขณะเดียวกัน จะต้องมั่นใจว่าผลการเจรจาต้องมีการกระจายอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง หากมีผู้ได้รับผลกระทบด้านลบก็ต้องมีมาตรการที่จะเยียวยาลดความเสียหายอย่างเหมาะสม 
          ในส่วนประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาข้อมูลผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบเพื่อเตรียมการรองรับ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องบริการสุขภาพ เรื่องการลงทุน รวมทั้งเรื่องการค้าสินค้าและบริการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ สุรา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น ดังนั้น การศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพและสังคมจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องดำเนินการไปอย่างโปร่งใส เป็นกลาง โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีการสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้ไปกำหนดนโยบาย รวมทั้งการสื่อสารให้สาธารณชนมีความตระหนักรู้ ทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบของการค้าระหว่างประเทศ
          ทั้งนี้ ขณะนี้หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้แสดงความสนใจเข้าร่วม TPP อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เนื่องจากเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ได้รับการกล่าวถึงว่ามีมาตรฐานสูง และจะส่งผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก TPP 12 ประเทศ ได้แก่ บรูไนออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม มีขนาดใหญ่ที่สุด ครอบคลุมการค้าประมาณร้อยละ 40 ของการค้าโลก มูลค่าเฉลี่ย 295,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี     
   *****************************   8 สิงหาคม 2559


   
   


View 12    08/08/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ