รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจ้งข่าวดี ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพ จะได้รับบริการล้างไตทางหน้าท้องฟรี ตั้งเป้า 400 ราย นำร่องใน 18 จังหวัด ชี้การล้างไตระบบนี้ สะดวก ทำเองที่บ้านได้ ส่วนผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมอยู่แล้วจะให้ร่วมจ่ายครั้งละเพียง 1 ใน 3 หรือแค่ 500 บาท รวมทั้งหนุนการผ่าตัดเปลี่ยนไต คาดเริ่มบริการในอีก 1-2 เดือนนี้
วันนี้ ( 13 กันยายน 2550 ) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมศูนย์ไตเทียม ของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีให้บริการทั้งหมด 16 เครื่อง ขณะนี้มีให้บริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 2 ระบบได้แก่ การบริการฟอกเลือกด้วยเครื่องไตเทียม( Hemodialysis ) ทั้งหมด 50 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ค่าบริการครั้งละ 2,000 บาท และการล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) มีผู้ป่วยทั้งหมด 48 รายในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 5 ราย ค่าใช้จ่ายรายละ 22,000 บาท ต่อเดือน
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นโรคร้ายแรง จากการคาดประมาณทั่วประเทศขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายประมาณ 15,000 ราย หรือล้านละ 300 คน ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าบริการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการดูแลรักษา โดยเฉพาะการล้างไตมีความยุ่งยากมาก มีค่าใช้จ่ายสูง 2,000 บาท ต่อครั้ง โดย 1 รายต้องล้างไตอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 2 แสนบาทต่อรายและต้องดูแลตลอดชีวิต ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการ และเสียชีวิตหลังป่วยประมาณ 4 -5 เดือน
ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพได้เข้าถึงบริการ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเน้น 3 มาตรการ ประการแรกได้แก่ การป้องกันการเกิดไตวาย ซึ่งต้นเหตุสำคัญเกิดมาจากโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงที่ดูแลควบคุมอาการไม่ดี จะเข้มข้นเรื่องการดูแลปฏิบัติตัวของประชาชนและผู้ป่วย ประการที่ 2 ได้แก่การจัดบริการผู้ป่วยในโครงการหลักประกัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ประมาณ 6000-7000 ราย ที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการ จะให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำเงินที่เหลือจากโครงการจัดซื้อยาต้านไวรัสเอดส์จากการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือซีแอลจำนวน 500 ล้านบาท มาทำเป็นโครงการนำร่องใน 18 จังหวัด จำนวน 400 คน ได้แก่เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ตากที่แม่สอด สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สมุทรสาคร กทม.(ร.พ.นพรัตนราชธานี) ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และอุดรธานี และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นให้ถึง 1,500 คนภายในปี 2552 และเพิ่มขึ้นปีละ 10 เปอร์เซ็นต์หรือ 110 รายต่อปีอีก 5 ปี คาดว่าภายในปีพ.ศ. 2554 จะมีผู้ป่วยไตวายในโครงการฯเข้าถึงบริการ 3,500 คน หรือร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด
ผู้ป่วยไตวายรายใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบบริการตามโครงการนี้ จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้วิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องฟรีทุกราย ซึ่งเป็นวิธีการได้ผลดี ผู้ป่วยทำเองที่บ้าน ขณะล้างไตสามารถทำงานบ้านตามปกติได้ ที่สำคัญสามารถปรึกษาแพทย์ พยาบาลได้ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน โดยให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปเป็นจุดคัดกรองผู้ป่วยเข้าสู่ระบบและเป็นแม่ข่ายดูแล ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยใกล้บ้านผู้ป่วยนั้นๆ ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ และจัดส่งน้ำยาล้างไตไปที่สถานีอนามัยที่มีผู้ป่วยอยู่ เป็นการดูแลต่อเนื่อง
ทั้งนี้พยาบาลโรคไตประจำโรงพยาบาลจังหวัด 1 คน จะดูแลผู้ป่วยเฉลี่ยคนละ 50-75 คน ที่สำคัญจะให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาน้ำช้ำยาล้างไตในราคาที่เหมาะสม คือให้ได้ครึ่งหนึ่งของราคาท้องตลาด ถุงละไม่เกิน100 บาท ซึ่งผู้ป่วยจะต้องใช้วันละ 4 ถุงขนาด 1000 ซี.ซี.ทุกวัน โดยจะประชุมในรายละเอียดในวันที่ 19 กันยายน 2550 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการนี้ในอีก 1-2 เดือนนี้
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปอีกว่า ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้าสู่การล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยและญาติต้องสามารถจัดการดูแลสุขภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี และสภาพร่างกายต้องแข็งแรงไม่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง และเงื่อนไขทางการแพทย์ แต่สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้ล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะให้ใช้ระบบการร่วมจ่าย 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด คือจ่ายครั้งละ 500 บาท จากราคาเต็ม 1,500 บาท ต่อครั้ง ทำให้ค่ารักษาถูกลง
และการแก้ไขปัญหาประการที่ 3 จะเพิ่มบริการการผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว แต่ขณะนี้คนไทยผ่าตัดเปลี่ยนไตน้อยมากปีละประมาณ 300 รายเท่านั้น โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไทยเข้าใจถึงเรื่องการบริจาคไตหลังเสียชีวิตแล้ว ซึ่งคนไทยยังไม่กล้าบริจาค เนื่องจากมีความเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก ขณะที่ต่างประเทศที่เจริญก้าวหน้ามีการบริจาคกันแล้ว
สำหรับสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในคนไทยขณะนี้ ร้อยละ 70 เกิดจากโรคเบาหวาน ซึ่งโรคนี้มีโอกาสเกิดสูงกว่าคนปกติทั่วไป 20 เท่าตัว จากสถิติพบว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานก่อนอายุ 20 ปี จะมีอาการไตวายได้มากถึงร้อยละ 45-50 และผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 95 ของโรคเบาหวานขณะนี้ จะทำให้เป็นโรคไตวายได้ร้อยละ 6 โรคที่เป็นสาเหตุไตวายรองลงมาได้แก่โรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้ จะมีผลทำให้หลอดเลือดที่มาเลี้ยงไต เกิดการตีบแข็ง มีผลให้การทำงานของไตเสื่อมลงอย่างถาวร ไม่สามารถกรองของเสียออกทางปัสสาวะได้ รวมทั้งมีสาเหตุมากนิ่วในไต พบมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
********************* 13 กันยายน 2550
View 19
13/09/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ