กระทรวงสาธารณสุขบูรณาการสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยเร่งแก้ไขปัญหาสารฟอร์มาลีนตกค้างในอาหารพร้อมสร้างความปลอดภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาและสร้างเครือข่ายด้านอาหารปลอดภัยควบคุมแก้ไขการปนเปื้อนสารเคมีในอาหาร  เช่น ยาฆ่าแมลง บอแรกซ์ สารฟอกขาว สารฟอร์มาลีน เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า ยังมีการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีนมากเป็นลำดับต้นๆ โดยมีอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่พบมากที่สุดคือ สไบนาง ร้อยละ 95.49 อาหารประเภทผักและผลไม้ พบในเห็ดชนิดต่างๆได้แก่ เห็ดหอม เห็ดฟาง ขิงซอย ร้อยละ 76.3 อาหารทะเลที่พบการปนเปื้อนมากที่สุดคือ ปลาหมึกกรอบ ร้อยละ 34.62 รองลงมาคือ ปลาหมึกสด ร้อยละ 20.51 หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ  ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว 

             ฟอร์มาลีน (Formalin) เป็นสารเคมีที่ห้ามใช้ในอาหาร ส่วนใหญ่จะใช้ในการฆ่าเชื้อ และทําความสะอาดทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการแพทย์ ซึ่งการลักลอบใช้สารฟอร์มาลีนในผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นการกระทําผิดต่อ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ ที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 โดยผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทําให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จําหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และหากตรวจพบการกระทําดังกล่าว จะต้องถูก ดําเนินการตามกฎหมาย อาจต้องโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข โดย สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ําเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งมีมาตรการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้สารฟอร์มาลีนมีประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้             ให้เห็นถึงอันตราย สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในการสังเกตเลือกซื้อและการบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย

          สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารทะเลมีคำแนะนำที่ถูกต้องดังนี้ ควรเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อ ตลาดนัดน่าซื้อ ของกรมอนามัย ,ก่อนนําอาหารทะเลมาปรุงอาหารต้องล้างด้วยน้ําสะอาดหลายๆ ครั้ง,เลือกกินอาหารทะเลที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ,ควรแยกอาหารทะเลที่ปรุงสุกและยังไม่สุกออกจากกัน,เมื่อซื้ออาหารทะเลมาแล้ว หากไม่นํามาปรุงทันที ควรเก็บใส่ตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ํากว่า 5 องศาเซลเซียส หรือแช่แข็ง

 ************************ 25 กันยายน 2559

 

 

 

 



   
   


View 21    25/09/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ