กระทรวงสาธารณสุข เผยดัชนีลูกน้ำยุงลายดีขึ้น จากทุกภาคส่วนร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ประชาชนมีความตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ย้ำมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ทำให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา ส่วนสถานการณ์ในรอบสัปดาห์พบผู้ป่วย 35 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์และมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มแข็ง สถานการณ์ผู้ป่วยไวรัสซิกาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 17 - 23 กันยายน 2559 พบผู้ป่วยรายใหม่ 35 ราย แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มแต่ละสัปดาห์คงที่ สามารถควบคุมโรคได้โดยพบผู้ป่วยในบางอำเภอ บางจังหวัดเท่านั้น ล่าสุดผลสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย วันที่ 19 กันยายน 2559 โดยกรมควบคุมโรค ในโรงเรียน โรงแรม ศาสนสถาน โรงพยาบาล โรงงาน มีค่าดัชนีที่ดีขึ้นอย่างมาก พบจำนวนลูกน้ำยุงลายบริเวณบ้านเรือน ภาชนะน้ำขังลดลง ทั้งนี้ ความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของประชาชน ที่ช่วยกันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ประชาชนมีความตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น หากทุกภาคส่วนช่วยกัน ประชาชนดูแลบ้านของตนเองก็จะสามารถควบคุมป้องกันโรคนี้ได้
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดไวรัสซิกาอยู่ในการดูแลเฝ้าระวังจำนวน 36 ราย คลอด 8 ราย ทุกรายอาการปกติ มีเพียง 1 รายอาจพบเด็กศีรษะเล็กจากผลอัลตร้าซาวด์ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับโรคไข้ซิกาหรือไม่ ต้องรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และสูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจวินิจฉัยยืนยันอีกครั้ง รวมทั้งเด็กที่คลอดมาศีรษะเล็ก 3 รายต้องรอข้อสรุปของคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 30 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติเด็กคลอดมาศีรษะเล็กสามารถพบได้ในอัตรา 4 ต่อ 100,000 หรือประมาณ 200-300 รายต่อปี ซึ่งสาเหตุไม่ได้เกิดจากไข้ซิกาอย่างเดียว อาจมาจากหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ สาเหตุทางพันธุกรรมเช่น ดาวน์ซินโดรม การติดเชื้อของมารดาและทารกในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน อีสุกอีใส ทารกได้รับสารพิษเช่น สารเสพติด แอลกอฮอล์ ทารกได้รับการบาดเจ็บที่สมองขาดออกซิเจน เป็นต้น ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำคู่มือสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา การปฏิบัติการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และแนวทางปฏิบัติดูแลรักษาเด็กที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกาแต่กำเนิด
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันควบคุมโรคไข้ซิกาที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน พี่น้องประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และยุงภายในบ้านตนเองทุก 7 วัน ตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ก็จะปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยาด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
*********************** 27 กันยายน 2559
View 18
27/09/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ