“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับที่ 126 ของโลก จัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม ให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม สอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง บริการตรวจเอกซเรย์เต้านม ฟรี แก่สตรีที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป จังหวัดละ 84 คน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาส 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
วันนี้(12 ตุลาคม 2559)ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อม อธิบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “ตุลาคม เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม”
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในสตรีจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยในปี 2555 สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (GLOBOCAN) สำรวจพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั่วโลกปีละ 1.67 ล้านคน เสียชีวิตถึง 522,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอยู่ในอันดับที่ 126 ของโลก อันดับที่ 29 ของทวีปเอเชีย และอันดับที่ 6 ของอาเซียน องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมทั่วโลกโดยใช้สัญลักษณ์ในการรณรงค์เป็นโบว์ชมพู (Pink Ribbon) ตั้งแต่ปี 2534 เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักและร่วมรณรงค์
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง เต้านม สอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โดยในปีนี้มีบริการตรวจเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรม(Mammography) ฟรี แก่สตรีที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป จังหวัดละ 84 คน ที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาส 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สร้างความตื่นตัวให้ตระหนักถึงความสำคัญต่อสุขภาพเต้านมของตนเอง พร้อมเข้ารับการคัดกรองมะเร็งเต้านม และเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้การตรวจเต้านมอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ เป็นการป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด
สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้เป็นสาขาหลักที่ต้องได้รับการพัฒนายกระดับอย่างต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนาระบบบริการ (Service plan) ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดฯ มีรังสีแพทย์ 1,005 คน และเครื่องแมมโมแกรม 57 เครื่องในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนเครื่องฉายรังสีมีจำนวน 60 เครื่องในโรงพยาบาลทุกสังกัด 29 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้สามารถให้ยาเคมีบำบัด 95 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 32 แห่ง /โรงพยาบาลทั่วไป 44 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก 19 แห่ง ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ลดการรอคอย ได้รับการรักษาอย่างครอบคลุมทั่วถึงและรวดเร็ว
ด้านนายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2554 คนไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 28.5 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือจำนวน 12,613 คน หรือ 35 คนต่อวัน และเสียชีวิต 3,455 คน หรือ 10 คนต่อวัน ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านมที่ผลการตรวจพบว่าผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี และเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก ก่อนอายุ 30 ปี
สำหรับวิธีการรักษามะเร็งเต้านม ประกอบด้วย การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา การให้ยาต้านฮอร์โมน และการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งการรักษาจะไม่ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่จะใช้หลายๆวิธี ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้มีสูงขึ้น หากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 1-2 อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี สูงถึงร้อยละ 85 – 99 หากตรวจพบในระยะที่ 3 อัตราการอยู่รอดเพียงร้อยละ 40 - 60 และหากตรวจพบในระยะที่ 4 อัตรารอดเหลือร้อยละ18 - 20
ในการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่มีสารปนเปื้อน อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์ ลดความเครียดในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรรับการตรวจเต้านมโดยบุคคลากรทางการแพทย์และเครื่องเอกซเรย์เต้านมทุกปี หรือเข้ารับการตรวจทันทีหากพบความผิดปกติของเต้านม ได้แก่ มีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป มีน้ำ เลือด หรือ น้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนมรูปร่างหรือขนาดของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไปสี หรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมที่เปลี่ยนไป เช่น รอยบุ๋ม รอยย่น อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม หรือรักแร้ โดยเฉพาะเจ็บข้างเดียวผิวหนังของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป
ตุลาคม ******************** 12 ตุลาคม 2559