นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศต่องานด้านการแพทย์การสาธารณสุข ว่า พระองค์ท่านทรงมีพระราชสมภพในราชสกุลที่ผูกพันกับงานด้านการแพทย์การสาธารณสุข นับตั้งแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อีกทั้งสมเด็จฯกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่ทรงมีคุณูปการต่องานด้านการแพทย์การสาธารณสุขอย่างมาก ทรงพระราชกรณียกิจหลายประการที่เกี่ยวเนื่องกับการสนับสนุนส่งเสริมงานด้านการแพทย์การสาธารณสุข ดังเช่น พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน

นายแพทย์โสภณกล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับโอนงานกิจการในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนจากสภากาชาดไทยเมื่อพ.ศ.2484 สังกัดกองควบคุมโรคเรื้อน ต่อมาในช่วง พ.ศ.2500 กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายโครงการควบคุมโรคเรื้อนแบบใหม่ ที่มุ่งค้นหาและรักษาผู้ป่วยที่บ้านที่มีไม่น้อยกว่า 140,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ  ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาอุปสรรค ในเรื่องการขาดแคลนกำลังคน การศึกษาวิจัย รวมทั้งสังคมก็ยังรังเกียจผู้ป่วยโรคเรื้อน การจะให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนไปรักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วไปเป็นเรื่องยาก  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงรับงานด้านการรักษาป้องกันโรคเรื้อน ให้เป็นโครงการในพระราชดำริพระราชทานพระราชดำริให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดงานปราบโรคเรื้อน

โดยให้เร่งรัดอบรมบุคลากร ค้นหาผู้ป่วยมารักษา พระราชทานพระราชทรัพย์จากทุนอานันทมหิดล เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารวิจัยและฝึกอบรมวิชาโรคเรื้อน 1,236,000 บาท และเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2501 พระราชทานนามว่า "สถาบันราชประชาสมาสัย” โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดอาคาร เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2503 พร้อมรับกองทุนราชประชาสมาสัย มาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และยกขึ้นเป็น "มูลนิธิราชประชาสมาสัย" ทรงมีพระราชอธิบายความหมายของคำว่า "ราชประชาสมาสัย"ว่าหมายถึง "พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน" ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่มีต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน

สำหรับสถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทย ขณะนี้มีแนวโน้มลดลงมาก และประเทศไทยสามารถดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อนได้บรรลุเป้าหมายและไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ.2537 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 5 มกราคม 2558 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนี้ขึ้นทะเบียนรักษารวม 576 ราย กระจายทุกภาค โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 188 ราย  อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้พบว่าในผู้ป่วยรายใหม่มีความพิการขั้นรุนแรงก่อนมาพบแพทย์รักษา เช่นหนังตาปิดไม่สนิทเวลาหลับ นิ้วมือนิ้วเท้าหงิก งอ กุดหรือด้วน หรือเป็นแผล สูงขึ้นถึงร้อยละ 16   จึงได้ปรับระบบบริการแนวรุก เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทั้งชาวไทยและต่างชาติทุกสัญชาติ โดยตรวจสุขภาพ หากพบจะให้การรักษาฟรี กลุ่มที่เน้นเป็นพิเศษได้แก่ แรงงานข้ามชาติ เรือนจำ พื้นที่ชายแดน แรงงานย้ายถิ่น  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดงานปราบโรคเรื้อน ตามพระราชดำริของพระองค์ท่านต่อไปจนกว่าโรคเรื้อนจะไม่เป็นปัญหาต่อประชาชนในประเทศไทย

                                                        ********************** 16 ตุลาคม 2559

 



   
   


View 16    16/10/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ