กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดจุดปฐมพยาบาลและรถพยาบาลฉุกเฉินกระจาย  9 จุด บริการประชาชนที่เข้าร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ วานนี้(15 ตุลาคม 2559)มีผู้รับบริการกว่า 7,600 คน ร้อยละ 99 เป็นการปฐมพยาบาล ขอรับยาดม แอมโมเนีย แนะประชาชนแปลงพลังความโศกเศร้าเป็นพลังกิจกรรม ร่วมทำสิ่งที่ดีงาม ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ผู้ที่รู้สึกเสียใจ ร้องไห้ตลอดเวลา เครียด นอนไม่หลับ  รับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ฟรี หรือปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้าน

          วันนี้(16ตุลาคม 2559) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ด้านวิกฤตสุขภาพจิต สรุปผลการดำเนินงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนทั้งด้านร่างกายและจิตใจในช่วงระยะวิกฤตและฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรก โดยในวันที่ 2 ของการปฏิบัติงาน (15 ตุลาคม 2559) มีผลการปฏิบัติงานดังนี้ 

1.ในส่วนกลาง ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย กองทัพ ตำรวจและมูลนิธิ จัดจุดบริการปฐมพยาบาลและรถพยาบาลฉุกเฉิน 9 จุด ได้แก่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สนามหลวงฝั่งเชิงสะพานปิ่นเกล้า  สนามหลวงที่กองอำนวยการกรุงเทพมหานคร  ประตูวิเศษชัยศรี ท่าช้าง  ข้างกระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง สนามหลวงฝั่งพระบรมมหาราชวัง และศาลาสหทัยสมาคม โดยมีประชาชนที่เข้าร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพเข้ารับบริการ 7,682 คน ร้อยละ 99 ขอรับยาดม แอมโมเนีย วัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทำแผล รับยา ที่เหลือเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีผื่นคัน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลแล้วอาการดีขึ้น มีส่งต่อโรงพยาบาล 8 คน ด้วยอาการ ความดันโลหิตสูง แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย โรคลมชัก ถูกสัตว์กัด เป็นต้น

ด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมเยียวยาด้านจิตใจ 8 ทีม เพื่อดูแลจิตใจประชาชน โดยให้บริการปฐมพยาบาลทางใจ 339 คน ตรวจรักษาและให้ยา 4 คน ให้คำปรึกษา/ให้การสนับสนุนทางใจ/ฝึกการหายใจ 54 คน หลังให้คำปรึกษาดูแลทุกคนมีอาการดีขึ้น 

2.ในส่วนภูมิภาค มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการทุกจังหวัด ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ 928 ทีม ทีมเยียวยาด้านจิตใจ 80 ทีม โดยมีผู้ป่วยโรคทางกายเข้ารับบริการ 18 คน

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนสามารถดูแลสุขภาพจิตตนเองและบุคคลใกล้ชิดได้ในภาวะที่รู้สึกสูญเสียทั่วประเทศพร้อมกันเช่นนี้ ดังนี้ 1.แปลงความโศกเศร้าเป็นพลังกิจกรรม โดยเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐ ทุกศาสนา และชุมชนท้องถิ่น ร่วมแสดงความรู้สึกที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ  มีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดีงามทั้งการบริจาคโลหิต บริจาคทรัพย์ จิตอาสา  รวมทั้งร่วมสืบสานปณิธานของพระองค์ท่าน เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการน้ำ โครงการตามพระราชดำริต่างๆ เป็นต้น 2.ดูแลกันและกัน  โดยเฉพาะในคนใกล้ชิดและผู้ที่อาจจะได้รับความกระทบทางจิตใจสูง เช่น ผู้สูงอายุ  หรือเด็กเล็กที่อาจไม่เข้าใจกับปฏิกิริยาการสูญเสีย รวมถึงผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต

สำหรับผู้ที่รู้สึกเสียใจมาก ร้องไห้ตลอดเวลา เครียดมาก นอนไม่หลับ  เป็นต้น ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ฟรี หรือปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้าน

                                                                       *************************16 ตุลาคม 2559



   
   


View 13    16/10/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ