ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ป้องกันโรคจากยุงลายโดยระดมพลังทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดต่ำลงกว่าค่าพยากรณ์ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 160,000–170,000 คน ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ 1 มกราคม - 26 ตุลาคม 2559 พบผู้ป่วย 50,856 คน น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 ถึงร้อยละ 52 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะลดลง แต่ผลสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน โรงเรียน ศาสนสถาน โรงแรม และโรงงานกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งขณะนี้ยังมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย มีโอกาสที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นได้
ขอความร่วมมือทุกคน สนองพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “โครงการปราบยุงลายคั่งค้างมานานแล้ว และอันตรายยังมีอยู่มาก อยากให้ปราบปรามอย่างจริงจัง อันตรายจากไข้เลือดออกจะได้ทุเลาลง” พระราชทาน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2542 เพราะการปราบยุงลายจะสำเร็จได้เมื่อทุกคน ทุกภาคส่วน ร่วมกันทำอย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยป้องกันไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลายได้อีกด้วย
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง ดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคอย่างเคร่งครัด ดูแลจัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต้องเป็นศูนย์ รวมทั้งการป้องกันยุงกัดผู้ป่วยไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ให้ผู้ป่วยทายากันยุงหรืออยู่ในห้องที่เหมาะสม เช่น มีมุ้งลวด ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5 – 14 ปี ขอความร่วมมือโรงเรียนดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำในภาชนะขังน้ำในห้องเรียนและบริเวณโรงเรียน เช่น ห้องน้ำ อ่างบัว จานรองกระถางต้นไม้ แจกันพลูด่าง และฉีดยากันยุงกำจัดยุงอย่างสม่ำเสมอทุก 7 วัน
ในส่วนของประชาชน ขอความร่วมมือร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน สถานที่ทำงาน และชุมชนอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค โดย 1.เก็บบ้าน ที่ทำงาน ให้สะอาด เป็นระเบียบ โปร่งโล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่อาศัยเกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบๆ บ้านที่อาจมีน้ำฝนตกลงมาตกค้างได้ โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่
************************************ 1 พฤศจิกายน 2559
View 15
01/11/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ