“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 129 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2559) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ทรงบรรยายปาฐกถาพิเศษ (Keynote Lecture) ด้านการสาธารณสุขของโรคมะเร็ง พร้อมทั้งทรงรับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลไทยต้านภัยมะเร็ง (Thai Cancer Award) โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และผู้เข้าร่วมการประชุมเฝ้ารับเสด็จฯ
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร กราบทูลรายงานว่า การประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ได้จัดเป็นประจำทุกๆ 2 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2531 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ในปีนี้เป็นครั้งที่ 13 ในหัวข้อเรื่อง “Promoting Excellence in ASEAN Cancer Care” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7– 9 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเป็นเวทีวิชาการให้กับแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคมะเร็ง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นทางด้านวิชาการโรคมะเร็ง มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 800 คน
ในการประชุมวิชาการจัดให้มีการบรรยายวิชาการทั้งในสาขาทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุขด้านโรคมะเร็ง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจากต่างประเทศและประเทศไทย อาทิ หัวข้อการดูแลรักษามะเร็งตับอย่างเฉพาะเจาะจงและรอบด้าน จากศูนย์มะเร็งของประเทศสิงค์โปร์ การตรวจคัดกรองมะเร็งระบบทางเดินอาหาร ทำอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด จากมหาวิทยาลัยแพทย์นาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ประสบการณ์การผ่าตัดมะเร็งเต้านมใช้เทคนิค IORT เพื่อรักษาอวัยวะเต้านม ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและอัตราการรอดชีวิตยาวมากขึ้น จากประเทศอิตาลี การใช้วัคซีนและระบบภูมิคุ้มกันบำบัดในการป้องกันดูแลรักษาโรคมะเร็ง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมแบบเฉพาะเจาะจงด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มเข้ามาใช้ในประเทศไทย การเสวนาวิชาการ เรื่อง สถานการณ์โรคมะเร็งในระดับอาเซียนและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของโรคมะเร็งในอาเซียน และการบรรยายพิเศษสำหรับประชาชนในหัวข้อเรื่อง “ข่าวสารด้านมะเร็งในยุค Social Media” จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านการวิจัย การป้องกันรักษา และควบคุมโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และประเทศชาติในอนาคต
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คณะกรรมการจัดการประชุมจึงขอพระราชทานอนุญาตทูลเกล้าฯถวายรางวัลไทยต้านภัยมะเร็ง(Thai Cancer Award) ซึ่งเป็นรางวัลที่ยอมรับด้านโรคมะเร็งในระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ที่พระองค์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ผู้ป่วยมะเร็ง พระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพด้านการวิจัย การแพทย์เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับคนไทย และประเทศไทย ยังมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่น และจะมีการมอบรางวัลนี้ทุก 2 ปี ในงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติด้วย
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นสาเหตุการป่วยและการตายอันดับต้นๆ ของทุกประเทศทั่วโลก จากสถิติในปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 112,392 คน ที่พบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง และเสียค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ(Server plan) สาขาโรคมะเร็ง จากแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ พ.ศ.2556-2560 โดยมีเป้าหมายคือ การลดอัตราการป่วย การตายจากโรคมะเร็ง ลดระยะเวลารอคอยการรักษา ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มอัตรากาiรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ยาวนานมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
******************************* 7 พฤศจิกายน 2559