กระทรวงสาธารณสุข เผยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ป้องกันได้โดยไม่ให้ยุงกัด หากมีไข้ออกผื่น รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการคัดกรองโรค โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์  ขอความร่วมมือประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ เพื่อตัดวงจรยุงลายพาหะนำโรค ย้ำไม่มียุงลาย ไม่มีพาหะนำโรคซิกา
 
          นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจาก ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทั่วประเทศ รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ด้วยมาตรการ 3 เก็บ เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค 3 โรคสำคัญคือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หากสามารถตัดวงจรของยุงลาย จะช่วยลดจำนวนยุงตัวแก่ลง ช่วยให้การควบคุมป้องกันโรคจากยุงลายประสบความสำเร็จ
 
          โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นอีกโรคที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมากจนจนผู้ป่วยไม่ทราบว่าป่วย โรคนี้ไม่อันตรายต่อคนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง แต่อาจมีผลต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาหากได้รับเชื้อในช่วงที่ตั้งครรภ์มีโอกาสให้กำเนิดทารกศีรษะเล็ก รวมทั้งอาจพบกลุ่มทางระบบประสาท ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยอย่างเข้มข้น  หากพบผู้ติดเชื้อทีมสวบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วพร้อมควบคุมโรคทันที ขอประชาชนมั่นใจ นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับยุทธ์ศาสตร์การทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟู รวมทั้งแผนดูแลเด็กศีรษะเล็กอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ 33 ราย กระจายใน 12 จังหวัดในบางอำเภอเท่านั้น
 
          “ยืนยันโรคนี้ไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ป้องกันได้ด้วยการไม่ให้ยุงกัด หากมีไข้ออกผื่น รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการคัดกรองโรค โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ประชาชนในพื้นที่เดียวกันกับผู้ป่วย ไม่ต้องกลัวหรือรังเกียจผู้ป่วย ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โรคนี้ไม่ติดต่อทางการสัมผัสและไม่ติดต่อทางลมหายใจ ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องจริงจัง”
 
          ด้านนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ล่าสุดเมื่อ16 พฤศจิกายน 2559 สำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในภาชนะพบว่า ยังมีลูกน้ำยุงลายในภาชนะต่างๆ ในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะที่ศาสนสถาน พบมากถึงร้อยละ 85.71 โรงเรียน พบร้อยละ 63.64 โรงแรมพบร้อยละ 25 โรงงานพบร้อยละ18.18 ส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่ถูกทิ้งไว้ เช่น ยางรถยนต์ กระถางต้นไม้ เมื่อฝนตกหรือรดน้ำต้นไม้มีน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เติบโตเป็นยุงตัวแก่ ส่งผลให้โอกาสพบผู้ป่วยด้วยโรคจากยุงลายเป็นพาหะได้จำนวนมากและพบได้ตลอดปี ตามปริมาณของยุงลายที่เกิดขึ้น 
 
****************************  18 พฤศจิกายน 2559
 


   
   


View 22    18/11/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ