กระทรวงสาธารณสุข เผยแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคอุจาระร่วงเข้ารักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 1 ล้านกว่าคน สาเหตุจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่สะอาด เตือนผู้ประกอบการร้านอาหาร เข้มงวดความสะอาดทุกขั้น ตั้งแต่การเตรียมอาหาร การปรุงอาหาร ใช้ภาชนะที่สะอาด รวมทั้งเลือกเมนูที่ปลอดภัยไม่บูดเสียง่าย ส่วนประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ”
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลผู้ป่วยโรคอุจาระร่วงพบแต่ละปีกว่า 1 ล้านคน สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อโรค หรืออาหารบูดเสีย และการไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมอาหาร ปรุงอาหาร และก่อนกินอาหาร รวมทั้งการใช้ภาชนะทีไม่สะอาด ตั้งแต่ต้นปีถึง14 พฤศจิกายน 2559 สำนักระบาดระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข รายงานมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดทั่วประเทศ 1,038,770 คน เสียชีวิต 5 ราย โดยพบรายงานพบผู้ป่วยจำนวนมากๆ เช่น ในโรงเรียน สถานที่รับเลี้ยงเด็ก รวมทั้งงานเลี้ยงงานบุญ เช่นล่าสุด เมื่อวานนี้ (24 พฤศจิกายน) ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจ.นครราชสีมา พบนักเรียนกว่า 100 คน มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และท้องเสียรุนแรง ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่เข้าไปสอบสวนโรค เก็บตัวอย่างอาหาร และน้ำดื่มที่จำหน่ายในโรงเรียน คาดว่าจะทราบผลสัปดาห์หน้า พร้อมแนะนำให้โรงเรียนหยุดการจำหน่ายอาหาร และทำความสะอาดสถานที่จำหน่ายอาหาร ภาชนะ อุปกรณ์ต่างๆ
ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ” หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปรุงสุกๆดิบๆ ไม่ควรรับประทานที่เก็บไว้ข้ามมื้อ โดยเฉพาะอาหารที่เสี่ยงต่อการบูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ อาหารประเภทยำ เป็นต้น ก่อนรับประทานควรตรวจสอบดูว่าอาหารบูดเสียหรือไม่ ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องปรุงอาหารเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อจำหน่ายหรือนำไปแจกจ่ายมอบให้ผู้คน ต้องเข้มงวดเรื่องความสะอาดทุกขั้น ตั้งแต่การเตรียมอาหาร การปรุงอาหาร ใช้ภาชนะที่สะอาด รวมทั้งเลือกเมนูที่ปลอดภัยไม่บูดเสียง่าย
ทั้งนี้ โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคที่หายได้เอง ไม่ต้องใช้ยารักษาเฉพาะ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุโรคนี้อาจทำให้ช็อกหมดสติและถึงแก่ความตายได้จากการขาดน้ำและเกลือแร่ไปพร้อมกับอุจจาระจำนวนมาก การรักษาที่สำคัญคือการป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียทางอุจจาระและจากการอาเจียน ในคนไข้ที่มีอาการไม่มากอาจให้กินสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ จิบแทนน้ำบ่อยๆ กรณีที่เป็นเด็ก ให้รับประทานอาหารเหลวบ่อย ๆ ประชาชนทั่วไปและผู้สูงอายุ รับประทานอาหารอาหารอ่อน ย่อยง่าย ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที
***************************** 25 พฤศจิกายน 2559
View 27
25/11/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ