“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จัดระบบดูแลสุขภาพผู้ต้องขังหลังได้รับอภัยโทษ โดยร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ตรวจสุขภาพผู้ต้องขังที่จะได้รับการอภัยโทษ เน้นคัดกรองโรคติดต่อและโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง อาทิ วัณโรค โรคเอดส์ สุขภาพจิต พร้อมตรวจสอบสิทธิด้านการรักษา เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้ใกล้ชิด
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า ในการจัดระบบการดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขังในเรือนจำ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอดรวมทั้งได้มีการพัฒนาแนวทางการจัดระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำให้เป็นไปตามสิทธิของผู้ต้องขังและสิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดูแลในการจัดระบบให้บริการสาธารณสุขทั้งระบบ ทั้งนี้ระบบการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก 2 แหล่ง คือ งบรักษาพยาบาลจากกรมราชทัณฑ์ดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศ 321,347 คน (ข้อมูล ของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559) และงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จัดสรรให้โรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามรายหัวผู้ต้องขังที่มีเลข 13 หลัก
โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีเรือนจำตั้งอยู่ใน 44 จังหวัด ประสานการจัดระบบบริการในเรือนจำร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ให้บริการตรวจรักษาพยาบาลการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ การฟื้นฟูสุขภาพ บริการทันตกรรม จัดระบบการให้คำปรึกษา การส่งต่อ การดูแลสุขภาพจิต ระบบอาสาสมัคร หรือผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำ รวมทั้งประเมินคุณภาพสถานพยาบาลตามมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง และหากโรงพยาบาลที่ต้องรับการส่งตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำ จะพิจารณาจัดห้องพักพิเศษไว้สำหรับผู้ต้องขัง และสถานที่สำหรับนอนเฝ้าของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เหมาะสมกับการควบคุมผู้ต้องขังไม่ให้หลบหนี
สำหรับกรณีจะมีการอภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษในเดือนธันวาคม 2559 และต้นปี 2560 นั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้โรงพยาบาลในพื้นที่ประสานกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ดำเนินการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคผู้ต้องขัง ที่จะได้รับการอภัยโทษก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว เน้นคัดกรองโรคติดต่อและโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง อาทิ วัณโรค โรคเอดส์ สุขภาพจิต เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้ใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบสิทธิด้านการรักษา การส่งตัวรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลตามภูมิลำเนาและสิทธิการรักษา ทั้งนี้ ให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกตีตราจากสังคม
*********************** 15 ธันวาคม 2559