“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อ “โนโรไวรัส” ติดต่อกันได้โดยการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ปี 2559นี้ พบการระบาด 5 เหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นการระบาดในโรงเรียน แนะประชาชนป้องกันตัวเองได้ด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการยึดหลัก “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ”
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า โนโรไวรัส (Norovirus ) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ พบการระบาดเป็นระยะๆ ในช่วงฤดูหนาว ติดต่อกันได้โดยการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น หอย ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมทั้งสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้ออยู่เช่น อาเจียน หรืออุจจาระของผู้ป่วย แล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก จึงสามารถเกิดการระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กตามโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ อาจมีอุจจาระร่วงเรื้อรังนานนับเดือน
นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า เชื้อโนโรไวรัส ก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ลักษณะอาการเด่น คือ ท้องเสียและอาเจียน โดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำเกลือแร่ โออาร์เอส เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หากรักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาอย่างใกล้ชิดทันที ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะในการกำจัดเชื้อไวรัสนี้ จะรักษาตามอาการ และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส
กรมควบคุมโรค ได้มีระบบเฝ้าระวังตรวจสอบข่าวการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัสอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 ได้รับรายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อนี้ 5 เหตุการณ์ ซึ่งได้รับแจ้งช่วงเดือนพฤศจิกายน –ธันวาคม ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี นครสวรรค์ สมุทรสาคร และนครราชสีมา ส่วนใหญ่เป็นการระบาดในโรงเรียน ส่วนในปี 2558 พบการระบาด 3 เหตุการณ์ ที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และกระบี่ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการยึดหลัก “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ” โดยล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ล้างให้นานไม่น้อยกว่า 20 วินาที ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนใช้มือหยิบอาหาร หรือหลังหยิบจับสิ่งของหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ รับประทานอาหารที่ยังร้อนๆ และปรุงสุกใหม่ๆ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดและใช้ช้อนกลางเสมอ ดื่มน้ำสะอาด ภาชนะที่ใช้ในการกินและดื่มต้องสะอาด เด็กๆ ที่ติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส พ่อแม่ควรงดให้ลูกไปโรงเรียน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน รักษาให้หายดีเสียก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
********************************** 23 ธันวาคม 2559