ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เผย “คลองขลุงโมเดล” ช่วยยืดไตวายสำเร็จได้รับการชื่นชมจากประธานสมาคมไตนานาชาติ พร้อมนำเสนอในเวทีโลกต่อไป ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายไปในโรงพยาบาล 797 แห่ง มีเป้ามายสำคัญคือการป้องกันโรคไต และชะลอความเสื่อมไต

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หารือการพัฒนาระบบบริการคลินิกไตวายเรื้อรัง( CKD Clinic )กับ ProFessor Adeera Levin ประธานสมาคมไตนานาชาติ และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังของไทย ได้แก่ ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ว่าที่ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ผศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย นพ.สกานต์ บุนนาค ประธานร่วมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ สาขาโรคไตวายเรื้อรัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังของประเทศไทย โดยประธานสมาคมไตนานาชาติ ได้กล่าวชื่นชมกระทรวงสาธารณสุขที่ได้พัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นต้นแบบ เช่น “คลองขลุงโมเดล”จ.กำแพงเพชร ที่ในการดูแลครอบคลุมทั้งการป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสามารถนำไปเป็นแบบอย่างในเวทีโลกได้

 นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ได้นำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาระบบบริการคลินิกไตวายเรื้อรังของไทย พร้อมความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาชีพกับกระทรวงสาธารณสุขด้านโรคไตเรื้อรัง  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย จัดการปัญหาโรคไตย้อนไปสู่ต้นน้ำหรือต้นปัญหาคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนคือโรคหัวใจและหลอดเลือด  โดยให้กลุ่มโรคไตวายเรื้อรังเป็น 1 ในกลุ่มโรคสำคัญในระดับชาติที่ต้องได้รับการจัดการแก้ไข มีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ(service plan)สาขาไตขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังคือคลินิกไตวายเรื้อรัง( CKD clinic) ซึ่งได้รับการพัฒนามาจากแนวคิดของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปรับรูปแบบให้เข้ากับระบบสาธารณสุขไทย ร่วมกับการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จนได้นวัตกรรม“คลองขลุงโมเดล”จ.กำแพงเพชร ที่ออกแบบให้มีการบูรณาการกับระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เป็นต้นแบบนำไปใช้ทั่วประเทศ ขณะนี้ดำเนินการในโรงพยาบาล 797 แห่ง มีเป้ามายสำคัญคือการป้องกันโรคไต และชะลอความเสื่อมไต

ข้อมูลการศึกษาของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่าประชากรไทยร้อยละ 17.5 หรือ 8.5 ล้านคน ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง แนวโน้มความชุกของผู้ป่วยโรคไตเรื้้อรังระยะสุดท้าย(End Stage Kidney Disease) ที่รักษาโดยวิธีบำบัดทดแทนไต (Renal Replacement Therapy) เพิ่มขึ้นปีละ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 70,000 คน ซึ่งเป็นภาระทั้งผู้ป่วยและรัฐใช้งบประมาณปีละมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปีและเพิ่มขึ้นทุกปีสาเหตุสำคัญของโรคไตวายเรื้อรังคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคไตคือโรคหัวใจและหลอดเลือด

                                                                 ******************************** 29 ธันวาคม 2559

 



   
   


View 28    29/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ