วันนี้ (5 มกราคม 2560) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายแพทย์สุวรรณชัย เจริญวัฒนชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ องค์การมหาชน

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของสังคมปัจจุบัน ดังนั้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ให้วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัย เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีคุณภาพ รวมถึงนำข้อมูลในระบบการรักษาพยาบาล  การส่งเสริมป้องกันดูแลสุขภาพมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพสำหรับประชาชนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล  ให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ให้ประชาชนรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงพยาบาลชุมชน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพ เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค Thailand 4.0

                            

          การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่ 1.ผลักดันให้หน่วยงานใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐ หรือเครือข่าย GIN อย่างเต็มประสิทธิภาพ และควบคุมความเสี่ยงไม่ให้เป็นช่องเข้าถึงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ 2.กำกับ ติดตาม การใช้ระบบสำรองและจัดเก็บข้อมูลกลางของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เกิดความคุ้มค่า 3.จัดทำและตรวจสอบเนื้อหาการรับรู้ด้านสุขภาพ ให้อยู่ในรูปแบบ Digital Health Literacy ให้เป็นปัจจุบัน เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านสุขภาพโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย 4.สนับสนุนการใช้ศูนย์กลางบริการภาครัฐฯ หรือ GovChannel เป็นช่องทางส่งต่อบริการสาธารณสุขถึงประชาชน

                             

          5.ร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและสาธารณสุข 6.จัดทำแนวทางปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้ประโยชน์จากระบบสื่อสารภายในองค์กรภาครัฐอย่างจริงจัง พร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น 7.ดำเนินการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Tele-Medicine  ในพื้นที่ต้นแบบ ระหว่างโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เกือบ 120 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาประชาชนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และ8.สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน โดยบันทึกดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 – 2565 และกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและขับเคลื่อน 

*******************  5 มกราคม 2560

 

 



   
   


View 26    05/01/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ