รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยนโยบายพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ปี 2551 เน้นความสะอาดปลอดภัย ป้องกันผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลเพิ่ม พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมเปิดระบบบริการตรวจรักษาผู้สูงอายุแบบครบวงจร ครอบคลุมทุกโรค ต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจนกลับไปอยู่บ้าน เริ่มนำร่อง 19 แห่งปีนี้ และดูแลเด็กและสตรีถูกกระทำทารุณอย่างครบวงจร วันนี้ (27 กันยายน 2550) นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลปทุมธานี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นอาคารขนาด 8 ชั้น งบประมาณก่อสร้าง 275 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัด ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ปลอดภัย กำหนดแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2553 โดยมีนายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานความเป็นมาของการก่อสร้าง นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยของแพทย์ ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการพัฒนาคุณภาพของห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุขหรือห้องแล็บของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ให้ได้มาตรฐานระดับชาติและระดับสากลตามระบบไอเอสโอ 15189 (ISO 15189) ที่มีข้อกำหนดไว้ 243 ข้อ ซึ่งในปีนี้สามารถพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับชาติแล้ว 739 แห่ง และมาตรฐานสากล 84 แห่ง รวมทั้งพัฒนาห้องเอ็กซเรย์ให้ได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ซึ่งทั่วประเทศมีเครื่องเอ็กซเรย์มากกว่า 4,500 เครื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 368 แห่ง นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2551 นี้ จะเน้นหนักการพัฒนาคุณภาพบริการให้เท่าทันกับสถานการณ์โรค รวมทั้งแนวโน้มปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต เน้น 3 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ไม่ให้ติดเชื้อเพิ่ม หรือได้รับอันตรายขณะมารับการรักษาหรือนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล การเตรียมระบบบริการรองรับผู้สูงอายุไทย ที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 10 ของประชากร ซึ่งผู้สูงอายุเป็นวัยเสื่อมของชีวิตมักจะถูกคุกคามจากโรคเรื้อรังต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวไม่ต่ำกว่า 2 โรค รวมทั้งการบริการเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่ง จัดบริการผู้สูงอายุแบบครบวงจร ครอบคลุมทุกโรค ตั้งแต่เข้ารักษาในโรงพยาบาลจนถึงบ้าน เน้นการพัฒนาระบบบริการแบบองค์รวม ปรับอาคารสถานที่ให้สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ มีทางลาด ป้ายบอกทางชัดเจน ห้องน้ำแบบโถนั่งและมีราวจับ สร้างอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องในชุมชนเมื่อกลับไปอยู่บ้าน และเปิดบริการทางด่วนให้ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปรับบริการอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน เริ่มนำร่องในโรงพยาบาลต้นแบบปีนี้ 19 แห่ง ได้แก่ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ รพ.พิจิตร รพ.ลำปาง รพ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี รพ.นครนายก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี รพ.คลองใหญ่ จ.ตราด รพ.ขอนแก่น รพ.สุรินทร์ รพ.ยโสธร รพ.ศรีสะเกษ รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รพ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ รพ.วิชระภูเก็ต รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รพ.เทพา จ.สงขลา และขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2552 สำหรับการพัฒนาระบบการดูแลเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงอย่างครบวงจร ทั้งด้านกฎหมาย สุขภาพสังคมสงเคราะห์ ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงผู้ป่วยกลับไปอยู่บ้าน ขณะนี้ดำเนินการแล้วในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในส่วนภูมิภาค 104 แห่ง ในปี 2551 จะขยายผลให้ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชน โดยกำลังนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี สระบุรี นครนายก สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ ซึ่งที่โรงพยาบาลปทุมธานี จัดเป็นจังหวัดตัวอย่างที่มีการดำเนินงานในรูปแบบนี้ได้เป็นอย่างดี ด้านนายแพทย์ ปราโมทย์ สุขวิชชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดเขตปริมณฑลที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง มีแรงงานอพยพมาใช้แรงงานเพิ่มจากประชากรที่มีอยู่ประมาณ ร้อยละ 40 ทำให้โรงพยาบาลปทุมธานีที่มีเตียงรองรับ 377 เตียง มีความแออัด โดยเฉพาะที่จุดตรวจบริการผู้ป่วยนอกหรือโอพีดี ซึ่งเป็นอาคารรุ่นเก่า ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2519 มีผู้ป่วยมารับบริการตรวจรักษาวันละ 1,398 คน มีห้องตรวจโรค 19 ห้อง ทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกสบาย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงได้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ทดแทน โดยชั้นที่ 1 – 5 จะเป็นห้องตรวจโรคทุกแผนก ห้องแล็บ ห้องบัตร ห้องจ่ายยา ชั้นที่เหลือเป็นส่วนสำนักงานและห้องประชุม นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายบริการในอนาคต โดยจะรองรับผู้ป่วยนอกให้ได้ 1,700 คนต่อวัน และเพิ่มเตียงบริการผู้ป่วยเป็นขนาด 500 เตียงด้วย ********************** 27 กันยายน 2550


   
   


View 10    27/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ