รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือแนวทางความร่วมมือจัดบริการประชาชนในกทม. ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมร่วม สปสช. และกทม.ระดับเขตสุขภาพ พร้อมดึงกทม.เข้าเป็นคณะกรรมการร่วมระดับส่วนกลาง เพื่อให้การทำงานทิศทางเดียวกันในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น
 
วันนี้ (19 มกราคม 2560) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ติดตามการจัดบริการแบบเครือข่ายของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร   ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 56 ทับเจริญ เขตบึงกุ่ม  ศิริพัฒน์สหคลินิก เขตสายไหม และโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายภาครัฐ สังกัดกองทัพอากาศที่ร่วมให้บริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ในการดูแลสุขภาพประชาชน
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า จากการลงพื้นที่และรับฟังนโยบายการทำงานของกทม. พบว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และกทม.มีความคล้ายคลึงกัน โดยจะเพิ่มการทำงานร่วมกับ กทม. ดังนี้                1.ตั้งคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพระหว่าง สปสช. กับกทม. เช่นเดียวกับ 12 เขตสุขภาพ รวมทั้งให้กทม. เข้ามาเป็นคณะกรรมการส่วนกลาง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และภาคีเครือข่ายสุขภาพ 2.การพัฒนาระบบบริการ ระบบการส่งต่อ การจัดการข้อมูล การบริหารจัดการ ให้เป็นทิศทางเดียวกันมากขึ้น ซึ่งกทม.เป็นพื้นที่พิเศษดูแลประชาชนจำนวนมาก ด้วยศักยภาพ เครือข่าย และเทคโนโลยีที่มีอยู่ สามารถสร้างนวตกรรมการจัดระบบบริการประชาชนให้มีลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นตัวอย่างให้เขตสุขภาพอื่นต่อไป ด้วยความสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.
 
นอกจากนี้ พบว่าหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่กทม. มีการจัดบริการผู้ป่วยแบบเครือข่าย ระหว่างภาครัฐ เอกชน และกทม. (Public Private Partnership) ช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการยกระดับบริการด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ สะดวก ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจัดเครือข่ายบริการตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดโรงพยาบาลใหญ่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบมีคลินิกเอกชนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านหรือที่เรียกว่าคลินิกชุมชนอบอุ่น ทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กทม.ทั้ง 68 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 50 เขตของกทม. ให้การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน และการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันการเจ็บป่วย 
 
สำหรับเครือข่ายบริการกทม. ได้มีการพัฒนาระบบบริการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เกิดนวัตกรรมในการบริการผู้ป่วย เช่น เครือข่ายบริการโรงพยาบาลภูมิพล สปสช. และภาคีเครือข่าย  ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอิเลคทรอนิกส์ หรืออีรีเฟอร์รัล  (e-Referral system) นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการส่งต่อข้อมูลดูแลรักษาผู้ป่วยระหว่างคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลแม่ข่าย ช่วยให้แพทย์ผู้รักษาเห็นข้อมูลการรักษาของคลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่าย 26 แห่ง นำมาวางแผนการดูแลรักษาต่อ และส่งข้อมูลกลับไป ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง  ขณะนี้ ได้เตรียมขยายระบบไปยัง รพ.นพรัตน์ราชธานี รพ.ตากสิน  และรพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าในเร็วๆ นี้ และสปสช.จะขยายครอบคลุมไปยังรพ.อื่น ๆ ในกทม. รวมทั้งเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วย การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่อไป
                                                                           ************************** 19 มกราคม 2560
 
 
 
 
 
 
 
*********************
 


   
   


View 30    19/01/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ