กระทรวงสาธารณสุข กำชับให้ทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น เนื่องจากขณะนี้ย่างเข้าปลายฝนต้นหนาว อากาศเย็นลง เอื้อเชื้อไข้หวัดกนกคืนชีพง่าย ย้ำเตือนประชาชนทุกคนให้เคร่งครัดการป้องกัน อย่านำไก่ป่วยหรือตายมาเชือดกินอย่างเด็ดขาด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือปศุสัตว์ทันที ส่วนที่พิจิตร เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังการป่วยเจ้าของไก่และเพื่อนบ้าน 40 คน จนครบ 21 วัน ขณะนี้ยังไม่มีรายใดมีไข้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมป้องกันโรคไข้หวัดนกในคน หลังจากที่มีไก่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ป่วยตายประมาณ 70 ตัว ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือเอสอาร์อาร์ที (SRRT : Surveillance and Rapid Response Team) เข้าไปในพื้นที่ที่มีไก่ตาย คือหมู่ 1 ต.วังสำโรง อ.ตะพานหิน และหมู่ 2 หมู่ 13 ต.เนินสว่าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร โดยได้เฝ้าระวังการป่วยในคน โดยเฉพาะเจ้าของบ้านที่มีไก่ตายและผู้ที่อยู่บริเวณโดยรอบ ซึ่งมีทั้งหมด 40 คน จะติดตามวัดไข้และอาการป่วยทุกวัน จนครบ 21 วัน และได้ติดสติ๊กเกอร์การเฝ้าระวัง ระบุวันสัมผัสสัตว์ปีก/ป่วยตาย ที่บัตรทอง บัตรโรงพยาบาล หรือบัตรประจำตัวประชาชนของทุกคนไว้ เพื่อให้โรงพยาบาลทราบประวัติ จะทำให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง รักษาได้ทันท่วงที ขณะนี้ยังไม่พบรายใดมีไข้ นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจังหวัดอื่น ๆ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปัญหาสัตว์ปีกป่วยตายก็ตาม ได้สั่งการให้เฝ้าระวังการติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 25 จังหวัดที่อยู่ในแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งที่มีสัตว์ปีกติดเชื้อ เนื่องจากขณะนี้ย่างก้าวสู่ปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศเริ่มเย็นลง จะเอื้อให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่อาจมีประจำถิ่นอยู่ก่อน เจริญเติบโตและแพร่ระบาดขึ้นมาอีกได้ แม้ว่าในรอบเกือบ 13 เดือนที่ผ่านมา ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายใหม่ หลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจอย่างเด็ดขาด ขอให้ อสม.เคาะประตูบ้านสอบถามอาการของคนและการป่วยตายของสัตว์ปีกทุกวัน และให้รายงานผลส่งจังหวัดทุกวัน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีความผิดปกติก็ตาม ส่วนประชาชนขอให้ยึดหลักปฏิบัติความปลอดภัยไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง คืออย่าปิดบังเมื่อมีสัตว์ปีกป่วยตาย ไม่กินไก่หรือสัตว์ปีกอื่นๆ ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออสม.หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที ไม่ใช้มือเปล่าสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย และล้างมือหลังสัมผัสสิ่งของอื่นๆ ทุกครั้ง หากมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายและเจ็บป่วยขึ้น ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่และแพทย์ผู้รักษาทันที จะลดการเสียชีวิตได้ ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองหาการป่วยจากโรคไข้หวัดนกเป็นชั้นที่ 2 หลังจากที่เฝ้าระวังการป่วยจากหมู่บ้านแล้วเพื่อสร้างความมั่นใจประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 ตรวจทั้งหมด 1,909 รายจาก 67 จังหวัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังไม่พบการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 แต่อย่างใด ส่วนสถานการณ์การป่วยของประชาชนจากโรคไข้หวัดนกทั่วโลกในปี 2550 องค์การอนามัยโลกรายงานพบป่วย 65 คน เสียชีวิต 42 คนใน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย ลาว ไนจีเรีย และเวียดนาม โดยยอดสะสมตั้งแต่พ.ศ. 2546 จนถึงปี 2550 ป่วยทั้งหมด 328 คน เสียชีวิต 200 คนใน 12 ประเทศ *************************** 28 กันยายน 2550


   
   


View 8    28/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ