ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนป้องกัน 6 โรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม โรคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้แก่โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก ต้องจับตาเป็นพิเศษ สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมออกให้คำแนะนำประชาชน และเตรียมป้องกันการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมว่า จากการติดตามสถานการณ์พบยังมีน้ำท่วมขังเล็กน้อยในจังหวัดพิจิตร อ่างทอง พิษณุโลก รวมทั้งบริเวณพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มักมากับน้ำท่วมขังอย่างใกล้ชิด ซึ่งโรคติดต่อที่พบได้บ่อยมีทั้งหมด 6 โรค ได้แก่ โรค ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส อหิวาตกโรค โรคไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบเอ โรคไข้เลือดออก และโรคตาแดง นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ผลการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงวันที่ 18 กันยายน 2550 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส จำนวน 1,639 ราย มากที่สุดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 68 ราย เชียงราย 37 ราย ขอนแก่น 26 ราย อุบลราชธานี 24 ราย น่าน 14 ราย เสียชีวิต 23 ราย อหิวาตกโรค พบผู้ป่วย 285 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคไข้ไทฟอยด์ จำนวน 1,951 ราย เสียชีวิต 4 ราย โรคตับอักเสบ เอ 234 ราย เสียชีวิต 8 ราย พบที่ภาคเหนือมากที่สุด 104 ราย ตาแดง จำนวน 64,371 ราย และไข้เลือดออกจำนวน 41,536 ราย เสียชีวิต 39 ราย เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์กับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โรคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต้องควบคุมเฝ้าระวังเป็นพิเศษมี 2 โรค ได้แก่ โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกให้คำแนะนำประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดโรค และไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่หรือมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และกำชับให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ติดตามงานควบคุมป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เชื้อโรคแพร่กระจายในน้ำได้ง่าย อาจเกิดโรคระบาด ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดขอให้ถ่ายอุจจาระ รวมทั้งทิ้งขยะลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำไปทำลาย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปอีกว่า น้ำดื่มน้ำใช้ ต้องสะอาด ควรต้มให้เดือดเพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำหรือหากเป็นน้ำบรรจุขวด ภาชนะที่ใส่ควรปิดสนิท น้ำใส สะอาด ไม่มีตะกอนหรือสิ่งแปลกปลอม และต้องมีตราเครื่องหมาย อย. เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ อาหารสดที่รับประทานต้องปรุงสุกด้วยความร้อน หากเป็นอาหารกระป๋องภาชนะบรรจุต้องปิดสนิท กระป๋องไม่บวม หรือเป็นสนิม ไม่หมดอายุ และก่อนที่จะบริโภคต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนเสมอ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อชะล้างดินโคลนที่มากับน้ำท่วมภายหลังน้ำลด โดยจะต้องสวมรองเท้าเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากการเหยียบเศษวัสดุ ทำให้เป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวในตอนท้าย ******************************* 30 กันยายน 2550


   
   


View 8    30/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ