(ขอบคุณภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

กระทรวงสาธารณสุข เผยเตรียมเสนอรัฐบาลของบประมาณเร่งด่วนวงเงินกว่า 430 ล้านบาท ฟื้นฟูสถานบริการ 117 แห่ง ปรับปรุงฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชน จัดบริการพื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งฟื้นฟูด้านจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ใน 9 จังหวัด 

 
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เริ่มคลี่คลาย มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหาย  117 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ในระยะเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมเสนอรัฐบาลของบกลาง เพื่อฟื้นฟูสถานบริการที่ประสบอุทกภัย ทั้งการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ประปา เครื่องมือแพทย์ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการกำจัดขยะติดเชื้อ และอาคารสถานที่ที่จะมีผลกระทบต่อระบบบริการของโรงพยาบาล รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทดแทน อาทิ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร โรงพยาบาลระโนด จ.สงขลา เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ ได้ขออนุมัติงบเพิ่มเติม เพื่อแก้ไข ปรับปรุง ฟื้นฟู ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน จัดบริการพื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยบ้านเรือนประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งให้การฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมงบประมาณเบื้องตันที่ขอรับการสนับสนุนจำนวน 430,500,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ ในการดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานดังนี้  ระยะเร่งด่วน 1.จัดหน่วยแพทย์ออกให้บริการประชาชนวันละกว่า 180 ทีม 2.จัดหน่วยปฐมพยาบาล ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรัง/ ติดบ้าน/ติดเตียง ไม่ให้มีปัญหาขาดยา 3.ตรวจประเมินสุขภาพจิตกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูญเสียคนในครอบครัว ทรัพย์สิน ผู้มีปัญหาทางจิต เป็นต้น 4.จัดส่งยาชุดน้ำท่วมไปช่วยเหลือกว่า 3 แสนชุด  
 
ระยะฟื้นฟู ดำเนินการดังนี้ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา การควบคุมและป้องกันโรค โดยในระยะ 1เดือน เฝ้าระวังในจุดวิกฤต/ในศูนย์อพยพ สนับสนุนอุปกรณ์ในการป้องกันควบคุมโรค 2.การฟื้นฟูสภาพจิตใจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นระยะจนครบ 1 ปี หรือจนกว่าจะกลับมาปกติ3.การจัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ในระยะ 1 เดือน ปรับปรุง ฟื้นฟูเพื่อจัดบริการพื้นฐาน ที่จุดอพยพ /ที่อยู่อาศัย เช่น ล้างบ่อน้ำ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ การจัดการขยะ ล้างตลาด เป็นต้น 4.การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขระยะ 1 วัน กู้ระบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า ประปา เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และระบบสื่อสารหลัก ระยะ 30 วัน กู้หน่วยบริการ ห้องตรวจโรค ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด และวางแผนออกแบบป้องกันสถานบริการในระยะยาว  
 
************************  มกราคม 2560


   
   


View 26    25/01/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ