“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกล 12 จังหวัดภาคใต้ กำชับเฝ้าระวังโรคฉี่หนูหลังน้ำลด ส่งเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขให้ความรู้ ค้นหา ให้คำแนะนำประชาชน หากมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีประวัติลุยน้ำ ย่ำโคลน รีบพบแพทย์ทันที พร้อมเร่งรัดแผนฟื้นฟูในระยะหลังน้ำลด 4 ด้าน
วันนี้( 1 กุมภาพันธ์ 2560) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กับ 12 จังหวัดภาคใต้ กำชับยกระดับการเฝ้าระวังโรค ฉี่หนูเนื่องจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังน้ำท่วม ให้เจ้าหน้าที่สื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต เนื่องจากประชาชนมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อ จากการมีแผลน้ำกัดเท้า การถูกของมีคมบาดขณะเดินลุยน้ำ/ขณะประชาขนได้เข้าทำความสะอาดบ้าน และในช่วงน้ำลด มีน้ำขังและดินโคลนซึ่งจะมีความเข้มข้นของเชื้อโรคฉี่หนูมากขึ้น ประกอบกับประชาชนไม่คุ้นเคยกับอาการของโรค มักคิดว่าป่วยเป็นเป็นหวัดปวดเมื่อยธรรมดา จึงไม่รีบมารักษา กำชับให้ส่งเจ้าหน้าที่/ อาสาสมัครสาธารณสุขให้ความรู้ ค้นหา ให้คำแนะนำประชาชน หากมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้รีบพบแพทย์ทันที กำชับให้สถานบริการ หากมีผู้ป่วยมีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย ให้วินิจฉัยและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตามมาตรฐาน ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา รายงานพบผู้ป่วยสูงกว่าปกติใน จ.นครศรีธรรมราช พบ 37 รายและจ.กระบี่ พบ 19 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการหนักในจ.กระบี่เสียชีวิต 2 ราย มีผู้ป่วยอาการรุนแรง 1 ราย จ.ตรังเสียชีวิต 1 ราย และจ.นครศรีธรรมราชมีผู้ป่วยอาการรุนแรง 3 ราย นอกจากนี้ ให้เฝ้าระวังโรคประจำถิ่นที่เกิดจากยุง คือไข้มาลาเรีย ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบาดของโรค
สำหรับแผนการฟื้นฟูหลังน้ำลดมี 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาฯ ในระยะ 1 เดือนเฝ้าระวังโรค/ประเมินความเสี่ยงในศูนย์อพยพ 44 แห่ง วัด 30 แห่ง โรงเรียน 11 แห่งและชุมชน 3 แห่ง ให้สุขศึกษา สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรค ส่วนในระยะ 3 เดือนจะได้ส่งทีมป้องกันควบคุมโรคเข้าไปดำเนินการ 2.การฟื้นฟูสภาพจิตใจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะ 1 เดือน ได้ค้นหาและคัดกรองภาวะสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ให้การปฐมพยาบาลทางใจ สร้างพลังชุมชน สร้างกิจกรรมความคิดเชิงบวก ตรวจประเมินภาวะสุขภาพจิตแล้ว 8,883 คน มีภาวะเสี่ยง 543 คน
3.ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ระยะสั้น 1 เดือน ได้ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อจัดบริการพื้นฐาน/ จุดอพยพ/ที่อยู่อาศัย โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อล้างบ่อน้ำตื้นที่ถูกน้ำท่วม 817 แห่ง ซ่อมแซมและล้างระบบประปา 27 แห่ง ฟื้นฟูส้วมสาธารณะ 432 แห่ง ล้างตลาด 68 แห่ง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคและความปลอดภัยอาหารใน 42 อำเภอ ในระยะ 1 ปี จะปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้เฝ้าระวังบ่อขยะ อ.ทุ่งท่าลาด จ.นครนครศรีธรรมราชหลังน้ำท่วมโดยการเก็บตัวอย่างน้ำ เช่น น้ำซะขยะ น้ำผิวดิน และน้ำอุปโภคบริโภค มีแผนการเฝ้าระวัง 3 ระยะ คือ ระยะสั้นตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2560 ดำเนินการ2 ครั้ง/เดือน ระยะกลางตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2560 และระยะยาวในเดือนมกราคม 2561
4.โครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยระยะ 1 วัน กู้ระบบสาธารณูปโภค - ไฟฟ้า ประปา เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบสื่อสารหลัก ระยะ 30 วัน กู้รายหน่วยงานได้แก่ ห้องตรวจโรค ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วย ห้องยา ซักฟอก ระยะ 30-90 วันสำรวจออกแบบ แนวทางวางผังเครื่องมือแพทย์ โครงสร้าง เพื่อการวางแผนป้องกันในระยะยาวหลังจากฟื้นฟูแล้วเสร็จใน 30 วัน
**************************1 กุมภาพันธ์ 2560