กระทรวงสาธารณสุข คาดปี 2551 หญิงไทยจะป่วยเป็นมะเร็งเต้านมถึง 12,000 คน สูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้ามะเร็งปากมดลูก แนะหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมค้นหาความผิดปกติด้วยตนเองทุกเดือน เพื่อรับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยกำหนดรณรงค์ครั้งใหญ่ เคาะประตูบ้านตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปพร้อมกันทั่วประเทศ 25 พฤศจิกายนนี้ วันนี้ (1 ตุลาคม 2550) นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมเปิดงาน “มหกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านม” ครั้งที่ 7 จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กทม. และร่วมทำพิธีเปิดไฟสีชมพู บริเวณลานด้านหน้าอาคารอับดุลราฮิม ถนนพระราม 4 กทม. ซึ่งบริษัทเอลก้า (ประเทศไทย) จำกัด จัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านม โดยใช้ริบบิ้นสีชมพูเป็นสัญลักษณ์แสดงความห่วงใย ย้ำเตือนให้สตรีทั่วโลกตระหนักถึงภัยของมะเร็งเต้านม และตื่นตัวในการตรวจหาก้อนผิดปกติในเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ เพื่อค้นหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งสามารถรักษาหายขาดได้ โดยภายในงานมีนิทรรศการความรู้โรคมะเร็งเต้านมครบวงจร สาธิตวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง ดูเซลล์มะเร็งด้วยกล้องจุลทรรศน์ ให้คำปรึกษาปัญหามะเร็ง ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ประเมินภาวะโภชนาการด้วยเครื่องมือไฮเทค สาธิตอาหารต้านมะเร็ง และการแสดงคอนเสิร์ตโดยศิลปินหวิว ณัฐพนธ์ และวงแบลค วานิลา นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก ในปี 2548 มีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมถึง 502,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 1,200,000 ราย ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งปี 2541-2543 พบมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 5,854 ราย หรือแสนละ 21 คน สูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดรณรงค์ให้ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป มีความรู้และทักษะในการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ผลการดำเนินงานตั้งแต่ตุลาคม 2549 – มิถุนายน 2550 มีหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปได้รับการประเมินทักษะการตรวจเต้านมอย่างถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร้อยละ 52 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2551 ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่จะเพิ่มเป็น 12,000 ราย แซงหน้ามะเร็งปากมดลูก ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 8,000 ราย จึงต้องเร่งสร้างความรู้ ให้หญิงไทยทุกคนตรวจหาความผิดปกติได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์สร้างกระแสครั้งใหญ่ทั่วประเทศ โดยระดมพลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุข เคาะประตูบ้านตรวจหาความผิดปกติของเต้านม และให้ความรู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคน ให้สามารถตรวจเต้านมด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง ในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติ จะส่งไปรับการตรวจโดยละเอียดที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยให้หญิงที่มีความผิดปกติ ได้รับการตรวจวินิจฉัย และส่งต่อไปรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจน สตรีทุกคนจึงมีความเสี่ยงโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หญิงที่ไม่แต่งงานหรือแต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตร มีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 50 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอ้วน มีไขมันมาก วิธีป้องกันและลดความเสี่ยง ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มปริมาณผักสด ผลไม้ ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์สีแดงและอาหารไขมันสูง รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และเนื่องจากมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีความผิดปกติ ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามแล้ว โอกาสรักษาหายน้อย ดังนั้นหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคน จึงควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยใช้มือคลำหลังมีประจำเดือนวันแรกประมาณ 7–10 วัน จะช่วยให้พบสิ่งผิดปกติได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษาได้ผลดี โอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 80–90 นอกจากนี้ควรไปรับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุก 3 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี ด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งเต้านมให้หายขาด จะใช้วิธีผ่าตัด อาจตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกออกหรือตัดออกทั้งเต้านม แล้วแต่ระยะของโรค จากนั้นจะให้ยาเคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด หรือฉายรังสี เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เหลือ ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดยขณะนี้ในส่วนกลางมีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีระบบบริการรักษาโรคมะเร็งเต็มรูปแบบ (Excellent Center) 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติและโรงพยาบาลราชวิถี สำหรับในส่วนภูมิภาคสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็งเฉพาะด้าน สามารถรับบริการได้ที่ ศูนย์มะเร็งภูมิภาค 6 แห่ง ได้แก่ อุบลราชธานี ลพบุรี ชลบุรี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี ลำปาง และโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลลพบุรี และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ****************************** 1 ตุลาคม 2550


   
   


View 8    01/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ