รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้สถานการณ์ขาดแคลนพยาบาลใกล้ถึงขั้นวิกฤต พยาบาลจบใหม่ไหลไปภาคเอกชน เหลือแต่พยาบาลอายุมากอยู่ในระบบกว่าร้อยละ 80 ต้องรับภาระงานหนัก เครียดและอ่อนล้า หวั่นอาจส่งผลกระทบคุณภาพบริการ เร่งเจรจา ก.พ.บรรจุเป็นข้าราชการ พร้อมเพิ่มแรงจูงใจให้อยู่ในระบบ เช้าวันนี้ (3 ตุลาคม 2550) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ รพ.ราชวิถี กทม. นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการเรื่อง “วิกฤตการขาดแคลนพยาบาล : วิกฤตชาติ” เพื่อศึกษาสภาพปัญหา สาเหตุ ผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาลของประเทศไทย และแนวทางแก้ไขโดยองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล รวมทั้งพัฒนาบริการพยาบาลให้มีคุณภาพ ภายใต้สภาวะการแข่งขันและการขาดแคลน โดยมีพยาบาลวิชาชีพและบุคลากรสาธารณสุข จากสถาบันพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์พยาบาลวิชาชีพ ในระบบบริการสาธารณสุขของไทยทั้งรัฐและเอกชน ในปี 2548 พบมีพยาบาลวิชาชีพในวัยทำงานทั้งหมด 97,942 คน ในจำนวนนี้ปฏิบัติงานในภาคบริการ 88,440 คน ที่เหลือเป็นอาจารย์พยาบาลและไม่ประกอบอาชีพ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2548 พบอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ร้อยละ 17 เมื่อคำนวณความต้องการพยาบาลวิชาชีพ เพื่อรองรับบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งของคนไทยและคนต่างชาติแล้ว จะต้องมีพยาบาลทั้งหมด 119,770 คน จึงจะได้สัดส่วนพยาบาล : ประชากรที่เหมาะสม คือ 1 : 500 ซึ่งขณะนี้สัดส่วนพยาบาลของไทยเท่ากับ 1 : 700 มากกว่ามาเลเซีย 2 เท่า และสิงคโปร์ 2 เท่า ส่วนในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พยาบาลต้องทำงานหนักมาก โดยพยาบาล 1 คนต้องดูแลประชากรถึง 1,045 คน เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ประมาณ 70,000 คน ความขาดแคลนนี้มีสะสมมานานประมาณ 40 ปี แต่ในช่วง 4-5 ปีนี้เริ่มมีวิกฤตเกิดขึ้น จากโครงการ 30 บาทที่ทำให้ผู้รับบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่ ก.พ.ก็มีนโยบายจำกัดกำลังคน โดยไม่คำนึงถึงพยาบาลวิชาชีพที่ขาดแคลนอยู่เดิม เป็นผลให้พยาบาลที่กระทรวงฯ ผลิตได้ปีละประมาณ 4,000 คน อยู่ทำงานในสถานบริการกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่เหลือออกไปอยู่ภาคเอกชน เพราะมีรายได้สูงกว่า 2-3 เท่า พยาบาลวิชาชีพที่ยังเหลืออยู่ในระบบขณะนี้ ร้อยละ 80 อยู่ในวัยกลางคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ต้องทำงานหนักโดยเฉพาะการอยู่เวรบ่าย-ดึกและวันหยุดราชการ ไม่มีเวลาพักผ่อน แม้จะได้รับค่าตอบแทนสูงแต่ทุกคนเหนื่อยล้ามาก ในระยะยาวหากไม่มีการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.พ. คาดว่าเร็วนี้ๆ จะมีผลกระทบต่อคุณภาพบริการแน่นอน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหานี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยผลิต หน่วยบรรจุข้าราชการ และหน่วยงบประมาณเงินเดือน ค่าตอบแทนต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากกำลังคนด้านพยาบาลไม่สามารถใช้บุคลากรอื่นทดแทนได้ และกำลังคนภาคเอกชนคือกำลังคนที่ไหลออกจากภาครัฐ ซึ่งตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่จบการศึกษา ไม่มีสัญญาผูกพันที่จะบรรจุเป็นข้าราชการ รวมทั้งไม่มีการปรับค่าตอบแทนให้เทียบเคียงเอกชน ขณะที่ความคาดหวังของประชาชนต่อบริการภาครัฐมีสูงมาก จะได้นำเรื่องนี้หารือกับ ก.พ. เป็นการด่วน และหามาตรการเพิ่มแรงจูงใจให้พยาบาลอยู่ในระบบราชการมากขึ้น ****************************************** 3 ตุลาคม 2550


   
   


View 6    03/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ