กระทรวงสาธารณสุข ขยายบริการโครงการฟันเทียมพระราชทาน ใส่ฟรีให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันทั้งปาก อีก 90,000 ราย เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมพ.ศ. 2550 -2553 ใช้งบ 540 ล้านบาท ผู้สูงอายุสมัครได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ชี้ผลโครงการรอบ 3 ปีมานี้ โดนใจผู้สูงอายุเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (3 ตุลาคม 2550) ที่โรงพยาบาลนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบฟันเทียมพระราชทานแก่ผู้สูงอายุของจังหวัดบุรีรัมย์ ในโครงการฟันเทียมพระราชทาน ระหว่าง พ.ศ. 2548 - 2550 จำนวนทั้งหมด 1,627 ราย ซึ่งตามเป้าหมายที่อำเภอนางรองมีผู้สูงอายุใส่ฟันเทียมพระราชทานทั้งปากจำนวน 130 ราย
นายแพทย์มรกตกล่าวว่า ผลการสำรวจสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุซึ่งมีเกือบ 7 ล้านคน ล่าสุดพบว่า อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง ผู้สูงอายุมีปัญหาการบดเคี้ยวมาก เนื่องจากร้อยละ 92 สูญเสียฟัน มีฟันไม่ถึง 20 ซี่ ในจำนวนนี้สูญเสียฟันทั้งปากไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหารร้อยละ 8 คิดเป็นจำนวน 560,000 คน สาเหตุที่ทำให้สูญเสียฟัน ร้อยละ 96 เกิดมาจากฟันผุซึ่งสะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก และไม่ได้รับรักษา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเหงือกอักเสบ และทำให้ฟันโยก เนื่องจากกระดูกหุ้มรากฟันเกิดการละลายตัว และต้องสูญเสียฟันไป จากการสำรวจการแปรงฟันของผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุเสี่ยงสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น เนื่องจากแปรงฟันถูกเวลาคือหลังตื่นนอนตอนเช้าและก่อนนอน เพียง 1 ใน 3 ส่วนใหญ่เป็นแบบถูไปถูมา ทำให้คอฟันสึก ฟันผุง่ายขึ้นไปอีก
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้จัดทำโครงการฟันเทียมพระราชทานให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ไม่มีฟันหลงเหลืออยู่เลย ทั้งหมด 80,000 ราย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2550 ระหว่างพ.ศ. 2548-2550 ใช้งบประมาณ 460 ล้านบาท สามารถใส่ฟันเทียมได้แล้ว 90,000 ราย จากการประเมินผลพบว่าโดนใจผู้สูงอายุมากเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น ร้อยละ 83 พูดชัดขึ้น พอใจในความสวยงามของใบหน้า ทำให้ชีวิตมีความสุข เข้าสังคมได้อย่างมั่นใจ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขยายโครงการต่อไปอีก 3 ปี คือพ.ศ. 2551 - 2553 จำนวน 90,000 ราย ปีละ 30,000 ราย ใช้งบประมาณ รวมทั้งหมด 540 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันหมดทั้งปาก สามารถขึ้นทะเบียนรับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย โทร. 0-2590-4117
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2551 กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาชมรมผู้สูงอายุให้เป็นชมรมผู้สูงอายุต้นแบบในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองทั้งหมด 32 ชมรม นำร่องใน 11 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ ลำปาง บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น อำนาจเจริญ ราชบุรี สุพรรณบุรี และเพชรบุรี รวมทั้งเผยแพร่แก่ชมรมผู้สูงอายุภาคต่างๆ ที่สนใจ และได้ให้กรมอนามัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุตามชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อลดการสูญเสียฟันในหน่วยบริการสาธารณสุข 8 แห่งใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 1 แห่ง ลำปาง 2 แห่ง อุบลราชธานี 2 แห่ง ชัยภูมิ 2 แห่ง และราชบุรี 1 แห่ง ใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท นายแพทย์มรกตกล่าว
**************************************** 3 ตุลาคม 2550
View 9
03/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ