กระทรวงสาธารณสุข ออกคำเตือนผู้ที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สังคมใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามไม่เกิดความสับสนเกี่ยวกับโทษพิษภัยของแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ดื่มและคนรอบข้างที่เรียกว่า เหล้ามือสอง ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงแก่ผู้อื่น  จึงแนะนำให้ผู้ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ทุกระยะ หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ทำงานเสี่ยง ผู้ที่มีปัญหาโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

               วันนี้ (1 มีนาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และอธิบดีทุกกรมของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าว “การจัดทำชุดข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่สมควรดื่มสุรา” และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ 9 หน่วยงานร่วมใจ ครบ 9 ปี กฎหมายไทย ต้านภัยแอลกอฮอล์” เป็นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันสนับสนุน ป้องกันภัยสุขภาพจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะช่วยกันควบคุมมิติด้านการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาภาคีเครือข่ายและสื่อสารสาธารณะไปถึงคำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุ อันดับ 1 ของการสูญเสียปีสุขภาวะในประชากรทั่วประเทศและการสื่อสารการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน โดยเพิ่มปริมาณการดื่มของ เด็กและเยาวชน 1.5 เท่า เพิ่มการดื่มแบบหนัก 2 เท่า และเพิ่มการดื่มแบบอันตราย 1.5 เท่า กระทรวงสาธารณสุขจึงมีความห่วงใยประชาชน ในปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมไม่ว่าในรูปแบบใด (เบียร์ สุรา  เหล้า ไวน์ ฯลฯ) เนื่องจากเป็นสาเหตุทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควรจำนวนมากในแต่ละปี เช่น อุบัติเหตุทางถนน  โรคตับ  โรคมะเร็ง โรคพิษสุรา และความรุนแรงอันเกิดจากขาดสติ และสาเหตุอีกมากมายที่เกิดจากการดื่มสุราแต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นบุคคลรอบข้าง ที่เรียกว่า เหล้ามือสอง 

ดังนั้น  จึงได้จัดทำร่างชุดข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุรา โดยสาระสำคัญคือ การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความชัดเจนว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ และประชาชนกลุ่มใดบ้างที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป (Public Health Recommendation) เพื่อที่จะดูแลและปกป้องประชาชนกลุ่มที่การดื่มแอลกอฮอล์จะสร้างปัญหาต่อสุขภาพและสังคม หรือกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) โดยกรมควบคุมโรคร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หารือร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคม และเครือข่ายทางด้านวิชาการ ร่วมกันพิจารณาร่างเอกสารชุดข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุรา โดยอ้างอิงจากเอกสารวิชาการ เพื่อเป็นแนวทางให้สังคมใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับโทษพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือกติกาในสังคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศเป็นข้อแนะนำต่อไป โดยจะเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ทุกระยะ หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ทำงานเสี่ยง ผู้ที่มีปัญหาโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมควบคุมโรค ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “9 หน่วยงานร่วมใจ ต้านภัยแอลกอฮอล์เพื่อให้การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นกิจกรรม เช่น การพัฒนางานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ระบบแผนงานบริการสุขภาพ (Service Plan) การศึกษาวิจัย การใช้สมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพัฒนามาตรฐานด้านความถูกต้องในการวัดของเครื่องมือ ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้ การดูแลรักษาเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือด การปรับปรุงหลักสูตร อบรมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขให้มีความรู้ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึง สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขระดับหมู่บ้านร่วมดำเนินการแจ้งข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพัฒนาและผลักดันมาตรการเพื่อเอื้อต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อนักดื่มหน้าใหม่ การพัฒนางานป้องกัน บำบัดรักษา ฟื้นฟูและป้องกันการกลับดื่มซ้ำ เพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่และลดการสูญเสียอันเนื่องจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อเด็กและเยาวชนในทุกมิติ 

************* 1 มีนาคม 2560



   
   


View 23    01/03/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ