วันนี้ (4 ตุลาคม 2550) เวลา 14.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 5 ตุลาคม 2550 โดยมีนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหาร และข้าราชการเฝ้ารับเสด็จ ฯ
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบทูลรายงานว่า ประเทศไทยมีประชากรที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย และมีโอกาสมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงถึงร้อยละ 36.9 หรือประมาณ 24 ล้านคน โดยแต่ละปีมีคู่สมรสที่มีความเสี่ยง 17,012 คู่ ซึ่งมีโอกาสคลอดบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ต้องรับการรักษาพยาบาลตลอดชีวิต 4,253 ราย จากเด็กที่เกิดใหม่ปีละ 800,000 ราย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงถึงรายละ 10,500 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 6,600,000 บาทตลอดอายุขัยประมาณ 30 ปี ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ครอบครัว ประเทศชาติ และคุณภาพเด็กไทยในอนาคตอย่างมาก
กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โดยให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ จัดระบบบริการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน มีระบบส่งต่อผู้รับบริการ และเผยแพร่ความรู้แก่นักเรียน หญิงวัยเจริญพันธุ์ คู่สมรส ประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้มีมติอนุมัติในหลักการให้ดำเนินงานแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ พ.ศ.2550 2554
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ให้เป็นผู้นำด้านการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมีย เนื่องจากมีนโยบายที่ชัดเจน อาทิ การตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ หากพบผิดปกติจะติดตามตรวจเลือดสามี เพื่อหาความเสี่ยงมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง การตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอด รวมทั้งมีระบบบริการและระบบส่งต่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาสามารถลดผู้ป่วยชนิดรุนแรงรายใหม่ได้ 770 รายหรือร้อยละ 18 ของผู้ป่วยที่จะเกิดในแต่ละปี ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดอายุขัยผู้ป่วยได้ถึง 3,379 ล้านบาท ในปี 2551 ตั้งเป้าหมายลดผู้ป่วยชนิดรุนแรงรายใหม่ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่จะเกิดในแต่ละปี
โดยในการประชุมครั้งนี้ จะมีการนำเสนอองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ผลการรักษาภาวะธาตุเหล็กมากเกินในร่างกายผู้ป่วยธาลัสซีเมียด้วยยาแอลวัน (L1) ที่เป็นยากำจัดธาตุเหล็ก โดยองค์การเภสัชกรรมจะสนับสนุนการวิจัยต่อ ก่อนนำไปผลิตจำหน่าย ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศถึง 7 เท่า หรือผลการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ช่วยรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง เป็นต้น
ในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้สนับสนุนการการดำเนินงานของมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย จำนวน 7 ราย ประทานเกียรติบัตรแก่ผู้แทนโรงพยาบาลที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น 12 แห่ง และประทานพระดำรัสเปิดประชุมความว่า โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถควบคุมและป้องกันได้ เนื่องจากแต่ละปีมีทารกเกิดใหม่ที่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียจำนวนไม่น้อย จึงต้องเร่งรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรู้จักวิธีการควบคุมป้องกัน และขอให้ผู้เข้าประชุมนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับ ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมียให้มีประสิทธิภาพต่อไป
******************************* 4 ตุลาคม 2550
View 11
04/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ