กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย กทม. องค์กรเอกชนด้านวัณโรค  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการดูแล รักษาวัณโรคของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมพัฒนาการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัณโรค

วันนี้ (8 มีนาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย ระหว่างผู้บริหาร 18 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลกและประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงที่สุด ใน 3 กลุ่ม คือกลุ่มประเทศมีผู้ป่วยวัณโรคสูง กลุ่มที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง และกลุ่มที่มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง แต่ละปีไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000คน เสียชีวิตกว่า 13,800 คน ที่สำคัญคาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานมากถึง 4,500 คน ในการรักษาผู้ป่วยดื้อยาชนิดรุนแรงอาจใช้งบประมาณรัฐบาลถึง 1,200,000 บาทต่อคน

กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ 20 ปีด้านสาธารณสุขเพื่อลดป่วยและตายจากวัณโรค และจัดทำแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ ปี 2560 – 2564 ตั้งเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรคอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี ให้เหลือผู้ป่วยวัณโรค 88 ต่อประชากรแสนคนเมื่อสิ้นปี 2564 โดยได้นำกลยุทธ์ใหม่ขององค์การอนามัยโลก มาปรับแนวทางในการควบคุมโรค เปลี่ยนจากการตั้งรับมุ่งรักษาผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาล มาเน้นการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสโรค โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อยู่ในครอบครัวผู้ป่วย และให้ทีมหมอครอบครัวช่วยในการป้องกันควบคุมโรค ค้นหาผู้ป่วย และรักษาวัณโรคให้ครอบคลุม ปรับแนวทางการวินิจฉัยโรคให้มีความไวสูง คัดกรองโดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ร่วมกับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการดำเนินงานด้านวัณโรคของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือ ประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1.จัดตั้งและสนับสนุนการดำเนินการของเครือข่ายงานวิจัยวัณโรคแห่งประเทศไทย  (Thailand Tuberculosis Research Network ; ThaiTuRN)  ตามกลยุทธ์ยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลกและแผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติ โดยประเทศไทยเป็น ใน ประเทศนำร่องขององค์การอนามัยโลก 2.พัฒนาแนวทางการจัดการวัณโรค (Guidelines on Tuberculosis) ให้ทันสมัย สอดคล้องกับกลยุทธ์ยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลกและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย 3.พัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาวัณโรคให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานนานาชาติ 4.เพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการชันสูตรและห้องปฏิบัติการวิจัยวัณโรค และ5.ส่งเสริมแผนงานป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน โรงพยาบาลและกลุ่มเสี่ยง                                 

 นอกจากนี้ ยังดำเนินการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัณโรค โดยนำนวัตกรรมจากงานวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาขึ้น มาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคของสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดภาวะตับอักเสบจากยาต้านวัณโรคไอโซไนอาซิด การถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อวัณโรคเพื่อประเมินภาวะดื้อยาหลายขนาน และการศึกษาวิจัยร่วม 3 โครงการ

 

****************************** 8 มีนาคม 2560

 

 

 



   
   


View 21    08/03/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ