กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกล 8 จังหวัดภาคเหนือและตาก ป้องกันผลกระทบสุขภาพจากปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ให้อสม.ให้ความรู้ ออกเยี่ยมบ้าน แจกหน้ากากอนามัย และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ เป็นพิเศษ

         นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควัน ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควันไฟในจังหวัดภาคเหนือ ที่พบในช่วงอากาศร้อนแล้ง เดือนมกราคม-พฤษภาคมของทุกปี ทั้งจากไฟไหม้ป่า และการเผาพื้นที่เกษตรของประชาชนบางกลุ่ม เช้าวันนี้ (10 มีนาคม 2560) พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองในอากาศอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 50 - 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการฯจัดประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน สำปาง และลำพูน รวมทั้งจ.ตาก เนื่องจากตั้งแต่นี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2560 เป็นช่วงวิกฤตของปัญหาหมอกควัน

ได้สั่งการให้ดำเนินการใน 5 ประเด็นดังนี้ 1.ปกป้องประชาชนจากผลกระทบด้านสุขภาพ โดยให้เจ้าหน้าที่และอสม.แนะนำให้ความรู้ในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยหอบหืด โรคหัวใจ แจกจ่ายหน้ากากอนามัยและจัดเตรียมห้องสะอาด (Clean Room) สำหรับกลุ่มเสี่ยงในสำนักงานและสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ และส่งเสริมให้อปท.และประชาชนมีห้องสะอาด อาจใช้ห้องประชุมหรือห้องที่โล่งแต่มีประตูหน้าต่างมิดชิด มีระบบปรับอากาศแบบมีตัวกรองอากาศ 2.ติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ โดยให้ทีมหมอครอบครัวและอสม.ติดตามดูแลที่บ้าน และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการคัดกรองผู้ป่วยและดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด 3.เตรียมสถานพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ให้พร้อมรับผู้ป่วย 4.ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ 5.ให้รายงานสถานการณ์ การดำเนินงาน และการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ เสนอผู้บริหารกระทรวงทุกวัน และ6.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเต็มที่

          นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า จากการติดตามพบว่า มี 2 จังหวัดคือลำปางและแม่ฮ่องสอนได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯระดับจังหวัดแล้ว ทุกจังหวัดได้มีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หมอกควันและผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เตรียมห้องสะอาดสำหรับอพยพประชาชน จัดทำสื่อให้ความรู้แก่ประชาชน แจกหน้ากากอนามัยกลุ่มเสี่ยง และเตรียมแผนจัดบริการประชาชน ตามแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขรองรับผลกระทบสุขภาพจากหมอกควัน ปี 2560 ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2560 มีรายงานพบผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคใน 8 จังหวัดภาคเหนือรวม 46,566 ราย มากที่สุดคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด 27,497 ราย โรคทางเดินหายใจ 15,634 ราย โรคตาอักเสบ 1,808 ราย และโรคผิวหนังอักเสบ 1,627 ราย

“ขอความร่วมมือประชาชนลดการเผาป่า เผาขยะ เพื่อลดฝุ่นละอองจากควันไฟ เพราะหากฝุ่นละอองในอากาศมีค่าเกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ อาจมีอาการระคายเคือง แสบตา แสบจมูก น้ำมูกไหล ไอ คอแห้ง เจ็บคอ หายใจลำบาก อึดอัดแน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและเด็ก” นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าว

*****************************  10 มีนาคม 2560

 

 



   
   


View 28    10/03/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ