กระทรวงสาธารณสุขใช้ 6 ยุทธศาสตร์ดำเนินการตามแผนชาติการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย หวังลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาให้ได้ร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคน ร้อยละ 20 ในสัตว์ร้อยละ 30 และปรับสถานะยาต้านจุลชีพบางรายการเพื่อให้เกิดระบบการกระจายยาให้ดียิ่งขึ้น  

วันนี้ (14 มีนาคม 2560) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนา เรื่อง “ผู้บริโภคและการรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล”พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อาหารปลอดภัยไร้ยาปฏิชีวนะเพื่อผู้บริโภคกับยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยา”ว่าปัจจุบันมีเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลได้มีมติ เห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการร่วมมือหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาให้ได้ร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคน ร้อยละ 20 ในสัตว์ร้อยละ 30 และประชาชนมีความตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี

 
โดยใช้ 6 ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน ได้แก่ 1.เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการ 2.ควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ 3.ป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในสถานพยาบาลและร้านยา 4.ป้องกัน ควบคุมเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพ 6.การพัฒนาโครงสร้างและกลไกของการทำงานเชิงบูรณาการ การติดตามประเมินผล และประสานความร่วมมือภายในประเทศและต่างประเทศ
 
ทั้งนี้ ในภาคการเกษตรและปศุสัตว์ ประเทศไทยไม่สนับสนุนการใช้ยาต้านจุลชีพเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต (Growth promoter) ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค จึงมีมาตรการทางกฎหมายทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย อย. ไม่อนุมัติ ‘ข้อบ่งใช้’ เพื่อเป็น Growth promoter ในการขึ้นทะเบียนยาสัตว์ และปศุสัตว์มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดเป็น Growth promoter
 
สำหรับการจัดการอาหารปลอดภัยไร้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นยาต้านจุลชีพ มี 2 ส่วน คือ 1.การดูแลสุขภาพสัตว์ ไม่ให้เจ็บป่วย รักษาความสะอาดและสุขอนามัยในฟาร์ม 2.การควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ทุกกระบวนการห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิตจากฟาร์ม โรงฆ่า การขนส่ง จนถึงการแปรรูปหรือตลาด และส่งถึงผู้บริโภค ไม่ให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารหรือมีเชื้อดื้อยาปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภครับประทานอาหารที่ปลอดภัย นายแพทย์โสภณ กล่าว
 

**************************** 14 มีนาคม 2560
 


   
   


View 21    14/03/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ