รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 11 พร้อมมอบเข็มเชิดชูเกียรติแก่บุคคลดีเด่นด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เผยงานการแพทย์ฉุกเฉินของไทยมีความก้าวหน้ามาก ล่าสุดสามารถผลักดัน นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) ผ่านมติคณะรัฐมนตรี
วันนี้ (31 มีนาคม 2560) ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2560 พร้อมมอบเข็มเชิดชูเกียรติประเภทกิตติมศักดิ์ ประเภทสมนาคุณ และประเภทสรรเสริญ แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 581 คน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ได้สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสว่า “ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรมก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติก็คือพลเมืองนั้นเอง” ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ได้มุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการเจ็บป่วยในสภาวะปกติ
โดยเฉพาะงานบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นงานที่ก่อกำเนิดมาจากการมีจิตอาสาของประชาชน ในรูปแบบมูลนิธิต่างๆ ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ ปัจจุบันมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นแกนหลัก บริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยภาครัฐ เอกชน ประชาชน มูลนิธิ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ ทำให้งานด้านนี้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ปัจจุบัน มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งหมด 8,669 ชุด ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 5,605 ชุด ภาครัฐ 1,947 ชุด เอกชน มูลนิธิ/สมาคม 846 ชุด เอกชน 227 ชุด และอื่น ๆ 44 ชุด มีผู้ปฏิบัติงาน 86,105 คน และในปี 2559 มีผู้ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน 1669 จำนวน 1,169,136 ครั้ง
สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน และสนับสนุนการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนา เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ ของผู้เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้ปฏิบัติการ ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินและสาขาที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 2,500 คน มีการปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การเสวนา การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการทางการแพทย์
******************************** 31 มีนาคม 2560
**************************