“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลสถานการณ์ทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัด ล่าสุด มีโรงพยาบาลเพียง 5 แห่งที่ติดลบ ในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2560 นี้ สถานการณ์ดีขึ้น ยืนยันไม่มีโรงพยาบาลวิกฤตระดับ 7 ทุกแห่งยังดูแลประชาชนได้เหมือนเดิม
วันนี้ (5 เมษายน 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีมีการเสนอข่าวโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขาดทุน 18 แห่ง บางแห่งติดลบถึง 400 ล้านบาทนั้น เป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน เนื่องจากสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลจะต้องพิจารณาจากทุนสำรองสุทธิของโรงพยาบาล โดยข้อมูลที่สรุปเมื่อ 30 กันยายน 2559 มีโรงพยาบาลเพียง 5 แห่งที่ติดลบ ในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2560 นี้ สถานการณ์ดีขึ้น ติดลบเป็นจำนวนเงินไม่มาก ประมาณ 50 ล้านบาทเท่านั้น โรงพยาบาลทุกแห่งยังให้บริการได้ปกติ ไม่มีผลกระทบกับประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการลงทุนก่อสร้าง ซื้อยา เครื่องมือแพทย์ ที่จะได้รายรับกลับคืนมา
ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีระบบการประเมิน ติดตามการเพิ่มประสิทธิภาพ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างระบบคุณภาพที่ดีในการดูแลประชาชน ในปีนี้ ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ไม่มีโรงพยาบาลวิกฤตระดับ 7 เลย มีโรงพยาบาลใหญ่ที่ติดลบ 5 แห่ง จัดอยู่ในระดับ 3-4 เท่านั้น เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าใน 5 ปีที่ผ่านมา มีการบริหารจัดการที่ดีทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ มีทุนสำรองสุทธิเพิ่มขึ้นด้วย การติดลบขณะนี้เกิดจากกำลังลงทุนสร้างตึกใหม่ ซึ่งเปิดบริการแล้วบางส่วน ในระยะยาวก็จะมีรายรับกลับเข้ามา หรือที่โรงพยาบาลพิจิตร ปีที่แล้วติดลบ 100 กว่าล้านบาท ขณะนี้เหลือเพียง 30 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมานาน แต่การบริหารจัดการที่ดีใน 1-2 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นผลชัดเจน ข้อมูลที่เผยแพร่ในเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ครบถ้วน จะทำให้เกิดการเข้าใจผิด นี่คือของจริงและสามารถตรวจสอบได้
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวต่อว่า เราทราบว่าโรงพยาบาลทุกแห่งควรมีเงินที่เข้าระบบมากกว่านี้ รัฐบาลก็ทราบ กระทรวงสาธารณสุข เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ เช่น ประกาศนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยามากเกินความจำเป็น แต่ยานั้นต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยจริง ๆ ลดปัญหาเชื้อดื้อยา การลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ และมุ่งสร้างเสริมสุขภาพประชาชน โดยจัดให้มีคลินิกหมอครอบครัวเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ขณะนี้มี 100 กว่าแห่งแล้ว ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ และบรรจุในรัฐธรรมนูญให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม 1 คนต่อประชาชน 10,000 คน จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศสมเหตุสมผลอย่างมากที่สุด ใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด
************************************ 5 เมษายน 2560