กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าพัฒนาการให้บริการรับส่งผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉินภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานสากล จากร้อยละ 69 ในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ในปี 2552 พร้อมทั้งเร่งพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครกู้ชีพในชุมชนอีกกว่า 4 หมื่นคน ให้มีความสามารถทั้งด้านการกู้ชีพและการกู้ภัยได้พร้อมๆกันให้ครบทุกชุมชน เช้าวันนี้ (10 ตุลาคม 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงทิศทางของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนน ในปี 2551-2552 ในงานสัมมนาระดับชาติอุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 8 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเป็นปัญหาสาธารณสุขหลัก 1 ใน 3 ของประเทศไทยติดต่อกันมาโดยตลอดในรอบ 10 ปีมานี้ แต่ละปีมีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 1 ล้านคน และพิการอีกหลายหมื่นคน ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 115,932 ล้านบาท ขณะนี้เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล 1 ใน 3 ใช้รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจร นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่รับผิดชอบระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในที่เกิดเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือหน่วยกู้ชีพนเรนทร มีแพทย์ พยาบาล พนักงานกู้ชีพ อาสาสมัครกู้ชีพชุมชนที่ผ่านการอบรมได้มาตรฐานสากลเป็นทีมปฏิบัติการแข่งกับเวลา ช่วยรักษาพยาบาลในที่เกิดเหตุ และนำผู้บาดเจ็บส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด มีเครือข่ายครอบคลุมถึงระดับอำเภอทั่วประเทศ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฟรีทาง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง การพัฒนาที่ผ่านมาได้ผลดีตามลำดับ มีหน่วยกู้ชีพระดับสูงที่มีแพทย์ พยาบาลประจำในกรณีบาดเจ็บรุนแรง 968 หน่วย และหน่วยบริการกู้ชีพขั้นพื้นฐานทั่วไปในรายที่บาดเจ็บไม่รุนแรง จำนวน 1,194 หน่วย จากการประเมินผลในปี 2550 นี้หน่วยกู้ชีพนเรนทร สามารถเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานสากล เฉลี่ยได้ร้อยละ 69 สำหรับในปี ในปี 2551 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะขยายหน่วยกู้ชีพนเรนทรลงถึงระดับหมู่บ้าน โดยอบรมประชาชนให้เป็นอาสาสมัครของชุมชน ให้มีทักษะทั้งในเรื่องการกู้ชีพช่วยชีวิตคนเจ็บ และกู้ภัยไปในตัวด้วย เนื่องจากนอกเหนือจากอุบัติเหตุจราจรแล้ว ในพื้นที่ชนบทมักจะเกิดอุบัติเหตุอื่นๆหรืออุบัติภัยมากกว่าในเขตเมือง ซึ่งหากในทุกพื้นที่มีบุคลากรประเภทนี้ ก็จะสามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ขณะนี้มีหน่วยนเรนทรในหมู่บ้านแล้ว 1,194 หน่วย จะเพิ่มให้ได้ 5,000 หน่วย โดยมีประชาชนร่วมอาสาสมัครเข้าร่วมงานแล้ว 41,500 คน ทั้งนี้ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าจะออกปฏิบัติการกู้ชีพในที่เกิดเหตุ หลังรับแจ้งเหตุภายในเวลา 10 นาทีให้ได้เป็นร้อยละ 85 และลดอัตราการเสียชีวิตหลังบาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุให้ได้ร้อยละ 30 และจะ เพิ่มระยะเวลาการอบรมอาสาสมัครปฐมพยาบาลเบื้องต้นจาก 16 ชั่วโมง ให้เป็น 40 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บมากขึ้น ************************************* 10 ตุลาคม 2550


   
   


View 11    10/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ